บทที่ 34 ความเป็นนิรันดรของอิสลาม

บทนำ

ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการมีศรัทธาต่อบรรดาศาสดาทั้งหมด และการยอมรับสารทั้งหมดเหล่านั้นของท่านเป็นความจำเป็น (1) ส่วนการปฏิเสธศาสดาองค์หนึ่งองค์ใด หรือการปฏิเสธหนึ่งในบทบัญญัติของบรรดาศาสดาเหล่านั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธการบริบาลด้านการวางกฎเกณฑ์ของพระเจ้า ดังเช่น การปฏิเสธของอิบลิซ

ด้วยเหตุนี้ หลังจากพิสูจน์สารของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ความศรัทธาที่มีต่อท่านศาสดาและโองการต่าง ๆ ที่ถูกประทานลงมาแก่ท่าน ศรัทธาต่อบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกประทานลงมาจากพระเจ้าถือเป็นความจำเป็น

แต่การศรัทธาต่อการนำสารมาของทุกศาสดาหรือศรัทธาต่อคัมภีร์แห่งฟากฟ้าทุกฉบับของศาสดาเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติที่สารเหล่านั้นได้กล่าวไว้ ดังเช่นที่บรรดามุสลิมมีศรัทธาต่อบรรดาศาสดาผู้เป็นเจ้าของบทบัญญัติ และศรัทธาต่อคัมภีร์แห่งฟากฟ้าทุกฉบับ แต่ไม่สารมารถและจำเป็นต้องปฏิบัติตามคัมภีร์เหล่านั้น ได้เคยกล่าวไปแล้วว่าหน้าที่การปฏิบัติของประชาชาติทุกคน คือ การปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาในยุคสมัยของตนเท่านั้น ฉะนั้น ความจำเป็นในการปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามของประชาชาติ ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าสารของท่านศาสดา มิได้ระบุเจาะจงสำหรับประชาชาติใดประชาชาติหนึ่ง เช่น ประชาชาติอาหรับ หรือพิสูจน์ได้ว่าจะไม่มีศาสดาองค์ใดได้รับการแต่งตั้งลงมาอีกภายหลังจากศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) อันเป็นสาเหตุทำให้บทบัญญัติของท่านต้องถูกยกเลิกไป หรืออีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าอิสลามเป็นศาสนาอัมตะนิรันดรกาลตลอดไปสำหรับประชาชาติ

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องวิพากถึงประเด็นดังกล่าวว่าสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สำหรับประชาโลกทุกคน และมีความเป็นอมตะนิรันดร หรือเป็นสาส์นเฉพาะเจาะจงพิเศษสำหรับประชาชาติหนึ่งเท่านั้น และถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในช่วงเวลาอันเฉพาะเท่านั้น

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ไม่สามารถพิสูจน์ หรือทำการวิเคราะห์วิจัยได้ด้วยเหตุผลทางสติปัญญาอย่างเดียว ทว่าจำเป็นต้องใช้แนวทางการต้นคว้าในศาสตร์ที่ได้มีการจดบันทึกไว้ รวมทั้งประวัติศาสตร์หมายถึงจำเป็นต้องนำข้อกล่าวอ้างสัมพันธ์ไปยังหลักฐานที่เชื่อถือได้ ดังนั้น บุคคลที่ไม่ยอมรับความสัจจริงของอัล-กุรอาน สภาวะการเป็นศาสดาและความบริสุทธิ์ของท่านแล้ว เขาก็จะไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ทั้งอัล-กุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดา เป็นข้องอ้างอิงต่อการพิสูจน์ของเขาอีกต่อไป

ความเป็นนิรัดรของอิสลาม

ความเป็นนิรันดรของศาสนาอิสลาม และการไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับประชาชาติหรือสถานที่ใด หรือถูกระบุเจาะจงสำหรับเวลาหนึ่งเท่านั้น ความจำเป็นแห่งคำสอนของศาสนาแห่งพระเจ้า แม้กระทั่งบุคคลที่มิได้ศรัทธาเลื่อมใสตามแนวทางดังกล่าว ต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าอิสลามได้เชิญชวนทุกคนให้เข้ารับนับถือ คำเชิญชวนของอิสลามมิได้ระบุเจาะจงเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น หรือมิได้ระบุเฉพาะสถานที่ตามเขตภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว

หลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวคือคำยืนยันจำนวนมากมายจากประวัติศาสตร์ว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ส่งสาสน์เชิญชวนให้บุคคลอื่นเข้ารับอิสลามด้วย เช่น ท่านได้สาส์นไปถึงกัยซัรมหาจักรพรรดิแห่งกรุงโรม พระมหากษัตริย์แห่งอิหร่านตลอดจนเจ้าผู้ครองนครอียิปต์และเอธิโอเปีย นอกจากนั้นท่านยังได้สาสน์เชิญชวนไปยังหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ชาวอาหรับ อีกทั้งยังได้ทูตานุทูตพิเศษไปยังผู้นำเหล่านั้นเพื่อเชิญชวนให้เข้ารับอิสลาม และออกห่างจากการตั้งภาคีเทียบเคียงหรือการปฏิเสธไม่ยอมรับศาสนาอิสลาม ดังนั้น ถ้าหากอิสลามมิได้เป็นศาสนาอมตะนิรันดรกาลสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ก็จะไม่มีการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว ประชาชาติจากเผ่าอื่น ๆ ก็จะใช้เป็นข้องอ้างที่จะไม่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ไม่สามารถแยกความศรัทธาเลื่อมใสที่มีต่อแก่นแท้ความถูกต้องของอิสลาม กับความจำเป็นในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พระเจ้าทรงประทานลงมาได้ สรุปก็คือ บุคคลทีมีหน้าที่ปฏิบัติตามการกระทำอย่างหนึ่งในศาสนาของพระเจ้าก็จะได้รับการยกเว้น

เหตุผลของอัล-กุรอานที่บ่งบอกความเป็นนิรันดรของอิสลาม

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เหตุผลและหลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดของประเด็นดังกล่าวนี้ก็คือ อัล-กุรอานกะรีมนั่นเอง ซึ่งสัจธรรมและความน่าเชื่อถือของอัล-กุรอานได้อธิบายผ่านมาแล้ว โดยเป็นที่ประจักษ์ว่าหากบุคคลใดได้ศึกษาอัล-กุรอานเพียงคร่าว ๆ สักหนึ่งจบ เขาก็จะพบว่าอัล-กุรอานทำการเชิญชวนประชาชนโดยทั่วไป มิได้เฉพาะเจาะจงสำหรับประชาชาติใดประชาชาติหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งมิได้เป็นสมบัติสำหรับเผ่าชนใดโดยเฉพาะ

อัล-กุรอานจำนวนหลายโองการได้กล่าวเชิญชวนประชาชน โดยกล่าวเรียกพวกเขาว่า โอ้ ประชาชาติทั้งหลาย (2) หรือกล่าวว่า โอ้ บุตรหลานของอาดัมเอ๋ย (3) อัล-กุรอานถือว่าคำแนะนำของตนครอบคลุมเหนือประชาชาติทั้งหมด โดยใช้คำว่า (ประชาชาติ (4) หรือประชาโลกทั้งหลาย (5)) ทำนองเดียวกันอัล-กุรอาน หลายโองการได้กล่าวยืนยันว่าสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ครอบคลุมเหนือประชาชาติทั้งหลายโดยกล่าวว่า โอ้ ประชาชนเอ๋ย (6) หรือกล่าวว่า โอ้ บรรดาประชาโลก (7) และบางครั้งอัล-กุรอานกล่าวยืนยันว่าคำเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ครอบคลุมเหนือประชาชาติทั้งหมด ซึ่งได้รับการเน้นย้ำไว้ในอัล-กุรอานดังกล่าวยืนยันไว้ในบทอันอาม โองการที่ 19 ว่า อัล-กรุอานได้ถูกประทานลงมาแก่ฉัน เพื่อที่ฉันจะได้ใช้อัล-กรุอาน ตักเตือนพวกเจ้าและผู้ที่อัลกรุอานไปถึงพวกเขา อีกด้านหนึ่งอัล-กุรอาน กล่าวเรียกบรรดาศาสนิกผู้ปฏิบัติตามศาสนาแห่งฟากฟ้าว่า ชาวคัมภีร์ หรือบางครั้งกล่าวเรียกว่า โอ้ บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ ดังที่กล่าวว่า โอ้ บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ เพราะเหตุใดเล่าพวกเจ้าจึงโต้เถียงกันในเรื่องของอิบรอฮีม อัตเตารอตและอัลอินญีลนั้นมิได้ถูกประทานลงมา นอกจากหลังจากเขาแล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาดอกหรือ (8) ซึ่งสาส์นของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้เป็นที่พิสูจน์แล้วสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของการประทานโองการอัล-กุรอานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  เพื่อประกาศว่าอิสลามได้รับชัยชนะเหนือศาสนาอื่น ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

พระองค์คือผู้ประทานเราะซูลของพระองค์มาพร้อมกับคำแนะนำ และศาสนาแห่งความจริงเพื่อทรงให้ศาสนาแห่งความจริงนั้นประจักษ์เหนือทุกศาสนา แม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม (9)

เมื่อพิจารณาถึงโองการต่าง ๆ ที่กล่าวผ่านมาจะไม่มีข้อคลางแคลงสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น เกี่ยวกับคำเชิญชวนของอัล-กุรอาน ที่ว่าสำหรับทุกคนและความเป็นนิรันดรของศาสนาอิสลามอีกต่อไป

ความเป็นนิรันดรของอิสลาม

อัล-กุรอาน โองการที่เกี่ยวข้องได้ใช้คำศัพท์ที่มีความหมายครอบคลุม เช่น กล่าวว่า โอ้ บุตรหลานของอาดัม หรือโอ้ มวลมนุษย์ชาติเอ๋ย หรือโอ้ ประชาโลกเอ๋ย เป็นต้น และถ้าหากพิจารณาถึงคำกล่าวที่อัล-กุรอานใช้เรียกชนชาติอื่นนอกจากชนชาติอาหรับ หรือกล่าวเรียกศาสนิกที่ปฏิบัติตามศาสนาอื่น เช่น กล่าวว่า โอ้ บรรดาชาวคัมภีร์เอ๋ย คำกล่าวเช่นนี้โดยรวมแล้วเป็นการพิเศษให้เห็นถึงความครอบคลุม และความเป็นนิรันดรของอิสลาม ทำนองเดียวกันการใช้กาลเวลาโดยครอบคลุมสถานภาพทั้งหมด เท่ากับเป็นการปฏิเสธขอบข่ายหรือกาลเวลาอันเฉพาะเจาะจงให้หมดความหมายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่กล่าวว่า

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ  

พระองค์คือผู้ประทานเราะซูลของพระองค์มาพร้อมกับคำแนะนำ และศาสนาแห่งความจริงเพื่อทรงให้ศาสนาแห่งความจริงนั้นประจักษ์เหนือทุกศาสนา แม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม (10)

จะทำให้ไม่มีความแคลงใจใด ๆ หลงเหลืออีกเกี่ยวกับความไม่ครอบคลุมของอัล-กุรอาน ทำนองเดียวกันสมารถพิสูจน์ได้ด้วยคำกล่าวของอัล-กุรอาน บทอัลฟุซิลัต โองการที่ 42 ที่กล่าวว่า ความเท็จจากข้างหน้าและจากข้างหลังจะไม่คืบคลานเข้าไปสู่อัล-กุรอาน เนื่องจากเป็นการประทานจากพระผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ

โองการดังกล่าวบ่งชี้ว่าอัล-กุรอานไม่เคยปล่อยให้ความถูกต้องและความน่าเชื่อของตนเองหลุดลอยมือไปอย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นการบ่งชี้ถึงความเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสดาอิสลาม ซึ่งจะกล่าวอธิบายในบทต่อไป อย่างไรก็ตามความเข้าใจอันไม่ถูกต้องที่กล่าวว่า ศาสนาก่อนหน้านี้ได้ถูกยกเลิกด้วยศาสนาแห่งพระเจ้าโดยผ่านท่านศาสดา และบทบัญญัติของท่านตลอดจนรายงานจำนวนมากมายที่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยกล่าวว่า การอนุญาตของมุฮัมมัดจะอนุญาตจนถึงวันแห่งกาลอวสาน และการไม่อนุญาตของมุฮัมมัดจะไม่อนุญาตจนถึงวันแห่งกาลอวสาน (11) นอกจากนั้นแล้วความเป็นนิรันดรของศาสนาอิสลามก็เหมือนกับความเป็นอัมตะของอิสลามนั่นเอง ความจำเป็นของศาสนาแห่งพระเจ้านั่นคือไม่ต้องอาศัยเหตุผลเพิ่มเติมเพื่อบ่งชี้ถึงแก่นแท้ของศาสนาอิสลามอีกต่อไป

ตอบข้อสงสัยบางประการ

บรรดาศัตรูของอิสลามได้กีดขวางเพื่อมิให้ศาสนาของพระเจ้าถูกแผ่ขยายไปในวงกว้าง โดยที่พวกเขามิได้ลดละความพยายามลงแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งล่าสุดพวกเขาได้ตั้งคำถามขึ้นเพื่อสร้างข้อสงสัยคลางแคลงให้เกิดขึ้นแก่อิสลาม โดยกล่าวว่าศาสนาอิสลามเป็นของชนอาหรับชาวซาอุดิอารเบียเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับชนชาติอื่นแต่อย่างใด

คำยืนยันในคำกล่าวอ้างของพวกเขาคือ การถือเอาโองการอัล-กุรอานที่กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีหน้าที่ให้คำชี้นำคนในครอบครัว หรือทายาทใกล้ชิด หรือชาวมักกะฮฺและพลเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ นั้น เท่านั้น ดังอัล-กุรอาน บทอัชชุอะรออฺ โองการที่ 214 กล่าวว่า จงตักเตือนวงศาคณาญาติที่ใกล้ชิดของเจ้า (12)

และในบทอัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 69 หลังจากกล่าวถึงชาวยิว ซอิบิอีน และชาวคริสต์แล้ว กล่าวว่าเงื่อนไขแห่งความจำเริญผาสุกคือการมีศรัทธามั่นและการปฏิบัติคุณงามความดี โดยไม่ได้ระบุว่าการยอมรับอิสลามเป็นเงื่อนไขให้พบความจำเริญผาสุก นอกจากนั้นแล้วหลักนิติศาสตร์อิสลามถือว่าชาวคัมภีร์นั้นอยู่ในระดับเดียวกับบรรดามุชิรก (ผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า) ทว่าด้วยการจ่ายค่าคุ้มครองหรือส่วย (แทนทีการจ่ายคุมซ์ และซะกาต) ดังที่บรรดามุสลิมได้จ่ายเป็นรายจ่ายประจำปี จึงทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครอง หรือสามารถอาศัยอยู่ในประเทศอิสลามได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาของตน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงการรู้จักศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเอง

คำตอบ จำเป็นต้องกล่าวว่าการที่โองการกล่าวถึงหมู่เครือญาติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และชาวมักกะฮฺนั้น เป็นการอธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนในการเชิญชวนของท่านศาสดาโดยเริ่มที่ครอบครัวและเครือญาติชั้นใกล้ชิด หลังจากนั้นได้ขยายการเชิญชวนไปสู่ประชาชนชาวมักกะฮฺ และพลเมืองบริเวณรอบ ๆ นั้น ในที่สุดแล้วคำเชิญชวนของท่านก็ได้แพร่ขยายครอบคลุมไปสู่ประชากรทั้งโลก เช่นเดียวกันไม่สามารถถือโองการดังกล่าวเป็นโองการที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากสารของท่านศาสดาเป็นสาส์นที่ครอบคลุมประชาโลกทั้งหมด เพราะนอกจากโวหารที่โองการได้กล่าวใช้ออกนอกการครอบคลุมอันเฉพาะเจาะจง ซึ่งการเน้นเฉพาะเช่นนี้ถือว่าเป็นการจำกัดในส่วนมาก ซึ่งเหตุผลทางสติปัญญาถือว่าการกำหนดเฉพาะเจาะจงในส่วนมากเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้

ส่วนโองการบทอัลมาอิดะฮฺ / 69 อยู่ในฐานะที่อธิบายถึงประเด็นที่ว่าการยึดถือโองการหรือศาสนาดังกล่าวเพื่อก้าวไปให้ถึงแก่นแท้แห่งความผาสุก ถือว่าไม่เพียงพอทว่าปัจจัยแห่งความจำเริญผาสุกก็คือ ความศรัทธามั่นหรือความศรัทธาที่แท้จริงกับการปฏิบัติไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกรเป็นผู้กำหนดหน้าที่สำคัญเหล่านั้นแก่ปวงบ่าวไว้แล้ว และตามเหตุผลที่กล่าวว่าอิสลามเป็นศาสนานิรันดร ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงหน้าที่ของประชาชนทั้งหมดภายหลังจากการปรากฏของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติของศาสนานี้นั่นเอง

ส่วนความพิเศษที่อิสลามได้กล่าวถึงชาวคัมภีร์ที่มีเหนือบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลายนั้น มิหมายถึงข้อยกเว้นสำหรับพวกเขาจากการไม่ยอมรับอิสลามและไม่ปฏิบัติไปตามบทบัญญัติของศาสนา ทว่าในความเป็นจริงเป็นการอนุเคราะห์ช่วยเหลือทางโลก บนพื้นฐานของความเหมาะสมที่เป็นไปตามสิทธิของพวกเขาเท่านั้นเอง ตามหลักการของฝ่ายชีอะฮฺเชื่อว่า การอนุเคราะห์ช่วยเหลือเหล่านี้เป็นไปชั่วคราวเท่านั้นเอง ซึ่งในยุคการปรากฏกายของท่านอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) ท่านจะเป็นผู้ประกาศกฎเกณฑ์อันเป็นกฎสุดท้ายสำหรับพวกเขา และจะปฏิบัติกับพวกเขาเฉกเช่นผู้ปฏิเสธทั่ว ๆ ไป ซึ่งประโยคดังกล่าวนี้สามารถสร้างความเข้าใจได้จากประโยคที่ว่า เพื่อทรงให้ศาสนาแห่งความจริงนั้นประจักษ์เหนือทุกศาสนา



[1] กล่าวไปแล้วในบทที่ 29 ของหนังสือเล่มนี้
[2] อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 21, บทอันนิซาอฺ โองการที่ 1, 174, บทฟาฏิร โองการที่ 15
[3] อัล-กุรอาน บทอัลอะอฺรอฟ โองการที่ 26, 27, 28, 31, 35, บทยาซีน โองการที่ 60
[4] อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 185, 187, อาลิอิมรอน โองการที่ 137, อิบรอฮีม โองการ 1, 52, บทญาซียะฮฺ โองการที่  20, อัซซุมัร โองการที่  41, อันนะฮฺลิ โองการที 44, อัลกะฮฺฟิ โองการที่ 54,  อัลฮัชริ โองการที่ 21
[5] อัล-กุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 90, ยูซุฟ โองการที่ 104, ซ็อด โองการที่ 87, ตักวีร โองการที่ 27, เกาะลัม โองการที่ 52,
[6] อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 79, อัลฮัจญฺ โองการที่ 49, อัซซะบาอฺ โองการที่ 28
[7] อัล-กุรอาน บทอันบิยาอฺ โองการที่ 107, อัลฟุรกอน โองการที่ 1
[8] อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 65, 70, 71, 98, 99, 110, บทอัลมาอิดะฮฺ โองการ 15, 19
[9] อัล-กุรอาน บท เตาบะฮฺ โองการที 33, อัลฟัตฮฺ โองการที่ 28, อัซซอฟ โองการที่ 9
[10] อัล-กุรอาน บท เตาบะฮฺ โองการที 33, อัลฟัตฮฺ โองการที่ 28, อัซซอฟ โองการที่ 9
[11] อุซูลุลกาฟียฺ เล่ม 1 หน้า 57, เล่ม 2 หน้า 17, บิอารุลอันวาร เล่ม 2 หน้า 260, เล่ม 24 หน้า 288, วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 18 หน้า 124
[12]  นอกจากนั้นยังมีกล่าวในบท อันอาม โองการที่ 92, บทอัชชูรอ โองการที่ 7, อัซซัจญฺดะฮฺ โองการที 3, อัลเกาะซ็อซ โองการที่ 46, ยาซ๊น โองการที่ 5, 6