บทที่ 32 ความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอาน

ความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอาน

อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์แหงฟากฟ้าเพียงฉบับเดียวที่ประกาศด้วยความมั่นใจว่า ไม่มีผู้ใดบนโลกนี้สามารถประดิษฐ์คัมภีร์ที่มีความคล้ายเหมือนอัล-กุรอานได้เด็ดขาด แม้ว่ามนุษย์ทั้งโลกและบรรดาญินทั้งหมดจะรวมมือกัน ก็ไม่อาจประดิษฐ์คัมภีร์ที่มีคล้ายเหมือนอัล-กุรอานได้เด็ดขาด อีกทั้งอัล-กุรอานได้กล่าวท้าทายมวลมนุษย์ไว้ว่า จงกล่าวเถิด แน่นอนหากมนุษย์และญินรวมกันที่จะประดิษฐ์สิ่งคล้ายเหมือนอัล-กุรอานนี้ พวกเขาไม่อาจจะนำมาได้และแม้ว่าบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือแก่อีกบางคนก็ตาม (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 88)

มิใช่เพียงแค่มนุษย์ทั้งโลกจะไม่สามารถประดิษฐ์คัมภีร์ทีมีความคล้ายเหมือนอัล-กุรอานได้เท่านั้น ทว่าแม้เพียงบทเดียว หรือ 10 บท หรือแม้แต่โองการเดียวพวกเขาก็ไม่สามารถประดิษฐ์ได้ อัล-กุรอาน ยืนยันถึงความไร้ความสามารถของพวกเขาไว้ว่า พวกเขากล่าวว่า มุฮัมมัดได้ปลอมแปลงอัล-กุรอานขึ้นมาจงกล่าวเถิด ดังนั้น พวกเจ้าจงนำมาสักสิบบทเยี่ยงอัล-กรุอาน และเจ้าจงเรียกคนอื่นที่มีความสามารถในหมู่พวกเจ้า นอกจากอัลลอฮฺ ถ้าพวกเจ้าเป็นพวกสัตย์จริง (อัล-กุรอาน บทฮูด โองการที่ 13)

นอกจากนี้แล้วอัล-กุรอานในบทยูนุส โองการที่ 38 ก็กล่าวท้าทายไว้เช่นกัน หลังจากนั้นอัล-กุรอาน ยังได้เน้นย้ำอีกว่า เมื่ออัล-กุรอานกล่าวท้าทายบรรดาพวกที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ทั้งหลายแล้ว อัล-กุรอาน ได้ปฏิเสธความสามารถของพวกเขาอีกว่า ไม่มีวันกระทำสิ่งเหล่านั้นได้เด็ดขาดซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ยืนยันว่า อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์แห่งฟากฟ้าและเป็นพระดำรัสของพระเจ้าจริง อีกทั้งยังได้ยืนยันการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ดังนั้น จึงไม่มีความสงสัยคลางแคลงอีกต่อไปเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของอัล-กุรอาน ถึงการเป็นปาฏิหาริย์ของตนเองและของผู้ที่ได้นำคัมภีร์ฉบับนี้มาสอน อัล-กุรอานเป็นความมหัศจรรย์นิรันดร และเป็นข้อพิสูจน์อันแน่นอนสำหรับการเป็นศาสดาของนบีมุฮัมมัด อีกทั้งยังได้นำเสนอต่อประชาโลกเสมอมา และจะเป็นเช่นนี้เสมอต่อไปในอนาคต จวบจนถึงปัจจุบันกาลเวลาได้ล่วงเลยไปแล้วถึง 14 ศตวรรษ คำท้าทายของพระเจ้าตั้งแต่ยุคนั้นที่ได้ถูกประกาศโดยผู้ถือสาส์นของพระองค์ ยังหมู่มวลมิตรและอริยศัตรูบนโลกนี้ เพื่อยืนยันถึงข้อพิสูจน์และเหตุผลสมบูรณ์สำหรับพวกเขาเหล่านั้น

อีกด้านหนึ่งประชาชาติทั้งหลายต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าท่านศาดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) นับตั้งแต่วันแรกที่ประกาศตนเป็นศาสดา และประกาศเชิญชวนประชาชนอย่างเป็นทางการ ท่านได้เผชิญหน้ากับศัตรูที่มีความร้ายกาจและอคติอย่างสูง โดยที่พวกเขาไม่ลดละความพยายามในการต่อสู้กับแนวทางของพระเจ้าแม้แต่นิดเดียว แต่หลังจากหมดหวังและการขู่บังคับของพวกเขาไร้ผลอีกทั้งหมดหนทางที่จะต่อสู้กับศาสดาอีกต่อไป พวกเขาจึงวางแผนฆาตกรรมศาสดา ทว่าด้วยกับการบริบาลของพระเจ้า พระองค์ทรงทำลายแผนการของพวกเขาให้ล่มสลายจนหมดสิ้น ด้วยการอพยพจากนครมักกะฮฺไปยังนครมะดีนะฮฺ ในเวลากลางคืนอ้นเป็นการทำลายแผนการของพวกเขาให้จบสิ้นอย่างแยบยล และหลังจากการอพยพท่านศาสดาใช้ชีวิตอันจำเริญในช่วงที่เหลืออยู่ ณ นครมดีนะฮฺ ในช่วงนั้นท่านได้ทำสงครามหลายต่อหลายครั้งกับบรรดาผู้ปฏิเสธที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า และบรรดาหมู่พลพรรคของพวกเขาที่เป็นยิวในนครมะดีนะฮฺ และนับตั้งแต่ท่านศาสดาได้สิ้นชีพไปจวบจนถึงปัจจุบัน บรรดาผู้กลับกลอกภายในสังคมมุสลิมและบรรดาศัตรูจากภายนอกได้พยายามทุกวิถีทางที่จะดับรัศมีของพระเจ้าให้สิ้นไป เพียงแต่ว่าไม่มีหนทางหรือวิธีการใดที่พวกเขาได้คิดค้นขึ้นมาประสบความสำเร็จแม้แต่อย่างเดียว แน่นอน ถ้าพวกเขาสามารถประดิษฐ์คัมภีร์ที่มีความคล้ายเหมือนอัล-กุรอานขึ้นมาได้ พวกเขาคงจะกระทำไปเสียตั้งนานแล้ว แต่นี้เป็นเพราะว่าความไร้ความสามารถและพวกเขาจะไม่มีวันกระทำได้อย่างเด็ดขาด

ในยุคปัจจุบันได้มีรัฐบาลที่เป็นอภิมหาอำนาจของโลก ต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า อิสลามเป็นศัตรูตัวฉกาจสำหรับพวกเขา พวกเขาจึงได้ตั้งมั่นและร่วมมือระหว่างรัฐบาลผู้กดขี่ด้วยกัน เพื่อต่อต้านและต่อสู้กับแนวทางของอิสลามอย่างจริงจัง พวกเขาได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดทั้งด้านการเงิน กองกำลัง การคุคามด้านเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อในทุกรูปแบบที่สามารถกระทำได้ ถ้าหากพวกเขากระทำได้แม้แต่การประดิษฐ์สิ่งที่มีความคล้ายเหมือนอัล-กุรอาน สักหนึ่งบรรทัด หรือสักหนึ่งบทสั้นขึ้นมาได้แล้วละก็ พวกเขาคงประดิษฐ์ไปเสียนานแล้ว และประกาศโฆษณาชวนเชื่อแก่ประชาโลกโดยผ่านขบวนการของสื่อที่มีอยู่ในมือ เนืองจากเป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อยไม่เสียเวลา แต่มีผลอย่างมากกับการต่อสู้กับอิสลามและกีดขวางอิสลามไม่ให้เจริญเติบโตขยายวงกว้างออกไปในโลก

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีสติปัญญาทุกคนที่ถวิลหาความจริงถ้าหากได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เขาก็จะเกิดความมั่นใจว่า อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์ที่ผิดแปลกไปจากคัมภีร์ฉบับอื่น ซึ่งไม่มีผู้ใดประดิษฐ์สิ่งใดที่คล้ายเหมือนขึ้นมาได้ และไม่มีบุคคลหรือกลุ่มชนใดบนโลกที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนอัล-กุรอาน ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน หมายถึง ความพิเศษต่าง ๆ ของอัล-กุรอานนั้น เป็นหนึ่งปาฏิหาริย์และเป็นความมหัศจรรย์ของพระเจ้าอันไม่อาจลอกเรียนแบบได้นั่นเอง อีกทั้งอัล-กุราอานยังเป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันให้เห็นความถูกต้องในการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอานจึงเป็นข้อพิสูจน์แน่นอนที่ยืนยันความถูกต้องในการเชิญชวนของท่านศาสดา และการเป็นแก่นแท้ของศาสนาอิสลาม ความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อประชาโลกทั้งหมด ซึ่งคัมภีร์ฉบับดังกล่าวได้ถูกประทานลงมา ในฐานะที่เป็นปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์อมตะ ที่ยังคงเหลืออยู่ของพระเจ้า อีกทั้งเป็นเหตุผลที่ยืนยันความถูกต้องของตนเอง เป็นข้อพิสูจน์บ่งบอกถึงความเข้าใจอย่างชัดเจนเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการเรียนรู้หรือฝึกฝนเป็นพิเศษแต่อย่างใด อัล-กุรอาน ยังเป็นความเข้าใจของทุกคนที่ถวิลหาความจริงสามารถเข้าใจและรับรู้ได้

สาเหตุแห่งความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอาน

ขณะที่เราได้รับรู้แล้วว่าอัล-กุรอานเป็นพระดำรัสและเป็นปาฏิหาริย์ของพระองค์ ลำดับต่อไปจะอธิบายให้เห็นสาเหตุบางประการที่บ่งบอกว่าอัล-กุรอานเป็นความมหัศจรรย์

1. วาทศิลป์และโวหารของอัล-กุรอาน ถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ประการแรกของอัล-กุรอาน วาทศิลป์และโวหารที่คมคายของอัล-กุรอาน หมายถึงพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกรทรงอธิบายถึงเป้าหมายของพระองค์ ในทุกวาระด้วยวาทศิลป์ที่มีความไพเราะเสนาะจับใจ คำและประโยคมีความสวยงามยิ่งซึ่งผสมผสานด้วยท้วงทำนองที่หวานซึ้ง อันกล่าวได้ว่าเป็นวาทศิลป์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่สามารถอธิบายเป้าหมายของตนเอง และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ความไพเราะที่ผสมผสานด้วยท้วงทำนองและวาทศิลป์อันสูงส่ง การเลือกสรรคำและการผสมผสานที่ลงตัวอีกทั้งมีความหมายสอดคล้องกัน ดังนั้น บุคคลที่จะเข้าใจภาษาได้อย่างยอดเยี่ยมต้องมีความสันทัดเพียงพอในคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ของคำ และความหมายอันละเอียดอ่อนตลอดจนความสัมพันธ์ของคำเหล่านั้น เพื่อเขาจะได้สามารถเก็บรายละเอียดทั้งหมดของความหมายตามที่ต้องการ อีกทั้งต้องใส่ใจต่อสถานภาพในขณะนั้น เขาจึงจะสามารถเลือกคำพูดและประโยคที่ดีที่สุดได้ แน่นอน ความสันทัดดังกล่าวถ้าปราศจากการดลใจของพระเจ้าแล้วไม่อาจเป็นไปได้เด็ดขาดสำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ความไพเราะและความสอดคล้องในเรื่องการใช้วาทศิลป์อันดื่มด่ำตรึงตรา และล้ำลึกของอัล-กุรอานสำหรับทุกคนที่มีความมักคุ้นและเข้าใจในสำนวนโวหารของภาษาอาหรับแล้ว เขาสามารถเข้าใจได้ทันที ส่วนการจำแนกความมหัศจรรย์ด้านวาทศิลป์และโวหาร สำหรับบุคคลที่มีความชำนาญพิเศษเท่านั้นที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งพวกเขาสามารถนำเอาวาทศิลป์ของอัล-กุรอานไปเปรียบเทียบกับคำพูดของมนุษย์บุถุชนทั่ว ๆ ไปที่เข้าใจในวาทศิลป์ การกระทำดังกล่าวนักกวีอาหรับในสมัยนั้นได้กระทำกัน เนื่องจากศิลปะอันลือชื่อของชนอาหรับก็คือการใช้สำนวนโวหาร และการเล่นสำบัดสำนวนต่าง ๆ ช่วงนั้นนับว่าเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดที่ชนอาหรับมีนักกวี และนักแต่งกาพย์กลอนจำนวนมากมายที่ได้สถาปนาตนเองขึ้นมา

แน่นอนวิทยปัญญาและความการุณย์ของพระเจ้าบ่งบอกว่า ความมหัศจรรย์ของศาสดาในแต่ละยุคสมัยย่อมเหมาะสมกับวิชาการและศิลปะในยุคนั้น เพื่อจะได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างเป็นพิเศษของปาฏิหาริย์ของศาสดาที่มีต่อผลงานของมนุษย์ในยุคนั้น อีกประการหนึ่งเพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจอย่างเต็มที่ ดังที่อิมามฮาดียฺ (อ.) ได้ตอบแก่บุตรของซิกกีต ที่ได้ถามว่า เพราะเหตุใดปาฏิหาริย์ของศาสดามูซา (อ.) จึงเป็นมือที่ขาวซีด และการเสกไม้เท้าให้กลายเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับงู ส่วนปาฏิหาริย์ของศาสดาอีซา (อ.) คือ การรักษาคนป่วยเป็นโรคเรื้อนให้หายเป็นปกติ ส่วนปาฏิหาริย์ของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) คืออัล-กุรอานกะรีม

อิมาม (อ.) กล่าวว่า เนื่องจากว่าศิลปะในยุคของท่านศาสดามูซา (อ.) คือ การแสดงมายากล ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงให้ปาฏิหาริย์ของศาสดามีความคล้ายเหมือนกับกิจการงานในยุคนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไร้สามารถของพวกเขาในการประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนกับสิ่งที่ศาสดาได้นำมา

ศิลปะที่ดีที่สุดในยุคของศาสดาอีซา (อ.) คือการรักษาโรคร้ายให้หายเป็นปกติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไร้สามารถอย่างชัดเจนของพวกเขา และการรับรู้ถึงปาฏิหาริย์ซึ่งมนุษย์ทั่วไปมิอาจกระทำได้

ส่วนศิลปะที่โด่งดังในสมัยศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) คือ การใช้คำพูดที่เต็มไปด้วยวาทศิลป์และโวหารทอันไพเราะเสนาะจับใจ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้ประทานอัล-กุรอานลงมา อันเป็นสำนวนโวหารที่สวยงามและมีความไพเราะที่สุด เพื่อยืนยันถึงความสูงส่งและการเป็นปาฏิหาริย์ของตนเองได้อย่างชัดเจน [1]

บุคคลที่สามารถใช้โวหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือ วะลีด บุตรของมุฆีเราะฮฺ มัคซูมี อุตบะฮฺ บุตรของเราะบีอะฮฺ ฏุฟัยลฺ บุตรของอัมรฺ พวกเขาสามารถสำนวนโวหารได้อย่างยอดเยี่ยมแต่พวกเขายืนยันว่า อัล-กุรอาน เป็นโวหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดเหนือกว่าคำพูดของมนุษย์ทั่วไป [2] แต่หลังจากนั้นประมาณ 100 ปี ผ่านไปบุคคลเฉกเช่น อิบนุอบิลเอาญาอฺ อิบนุมก็อฟฟะฮฺ อบูชากิร ดีซอนียฺ และอับดุลมะลิก บัซรียฺ ตัดสินใจว่าจะใช้ความสามารถของตน โต้ตอบอัล-กุรอานโดยประดิษฐ์ที่คล้ายเหมือนอัล-กุรอานขึ้นมา พวกเขาได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดตลอด 1 ปีเต็ม แต่พวกเขาไม่สามารถประดิษฐ์สิ่งใดขึ้นมาได้เลย ในที่สุดพวกเขาได้ยอมสิโรราบกับคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าฉบับนี้ พวกเขาต่างยอมรับความพ่ายแพ้และความไร้สามารถของตนเอง เมื่อได้มีการจัดประชุมขึ้นที่มัสญิดอัลฮะรอมเพื่อพิจารณาถึงผลงานภายใน 1 ปีของพวกเขา อิมามซอดิก (อ.) ได้เดินผ่านมาท่านได้อ่านโองการนี้แก่พวกเขา

قُل لَّئِنِ اجْتَمَعَتِ الإِنسُ وَالْجِنُّ عَلَى أَن يَأْتُواْ بِمِثْلِ هَذَا الْقُرْآنِ لاَ يَأْتُونَ بِمِثْلِهِ وَلَوْ كَانَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ ظَهِيرًا  

จงกล่าวเถิดว่า แน่นอน หากมนุษย์และญินรวมกันเพื่อประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนอัล-กุรอาน พวกเขาไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ และแม้ว่าบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือแก่อีกบางคนก็ตาม (อัล-กุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 88) [3]

2. การนำอัล-กุรอานมาโดยผู้อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับคัมภีร์เล่มอื่นแต่ครอบคลุมวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ไว้มากมาย ตลอดจนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หลักปฏิบัติ และกฎหมายที่ว่าด้วยนิติบุคคลและสังคมส่วนรวม แน่นอน การพิจารณาและการวิเคราะห์อย่างสมบูรณ์ในทุกแง่มุมต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความสามารถพิเศษและต้องกระทำตลอดทั้งปี เพื่อค้นคว้าและวิจัยวิชาการของของอัล-กุรอาน แน่นอน พวกเขาจะได้รับความรู้และเกล็ดสาระและความเร้นลับของอัล-กุรอานได้ที่ละน้อยไปตามขั้นตอน ซึ่งพวกเขาจะได้รับแก่นแท้ความจริงจำนวนมากมายไปตามลำดับ ถึงแม้ว่าการค้นหาสัจธรรมความจริงและความเร้นลับต่าง ๆ จะไม่มีผู้ใดกระทำได้เว้นเสียแต่บุคคลที่มีความรู้ของพระเจ้า หรือได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นพิเศษจากพระองค์เท่านั้น

ศาสตร์แขนงต่าง ๆ จำนวนมากมายที่แฝงอยู่ในอัล-กุรอาน ประกอบไปด้วยศาสตร์ที่มีความสูงส่ง และคำสั่งที่มีคุณค่าที่สุด้านจริยศาสตร์ กฎหมายที่มีความสถิตยุติธรรมเป็นเลิศ กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษย์ชน การตัดสินผู้พิพากษา วิทยปัญญาอันสูงส่งในด้านการแสดงความเคารพภักดี กฎหมายและข้อพึงปฏิบัติที่เป็นปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม เป็นคำตักเตือนทีมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ทีสุด เป็นการสั่งสอนและให้แง่คิดที่สูงส่งที่สุดในเชิงประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงแนวทางและวิธีการอบรมสั่งสอนทีดีที่สุดแก่ประชาชาติ สรุป ด้วยประโยคสั้น ๆ อัล-กุรอานได้รวบรวมรากหลักอันเป็นแก่นแท้แห่งความต้องการของมนุษย์ชาติ อันเป็นความต้องการของมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเอาไว้ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีตในลักษณะที่ว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าที่อาศัยอยู่ในต่างสังคม สามารถสร้างความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากอัล-กุรอานได้

การรวบรวมเอาศาสตร์แขนงต่าง ๆ และสัจธรรมความจริงไว้ในคัมภีร์ฉบับเดียวกันเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความสามารถพิเศษที่มีอยู่เหนือมนุษย์ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่สร้างความอัศจรรย์ใจก็คือ คัมภีร์ฉบับยิ่งใหญ่นี้ได้ถูกนำมาประกาศสั่งสอนโดยบุคคลที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น โดยที่ท่านมิต้องอาศัยปากกาและกระดาษเพื่อจดบันทึก อีกทั้งได้เจริญเติบโตอยู่ในสังคมที่ห่างไกลความเจริญไร้การศึกษา ปราศจากวัฒนธรรมและอารยธรรมของมวลมนุษย์ คงมีแต่ความป่าเถื่อนโหดร้ายและสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจมากไปกว่านั้นตลอด 40 ปีแห่งอายุขัยอันจำเริญของท่าน ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาไม่มีผู้เคยได้ยินคำพูดเหล่านี้จากท่านมาก่อนเลย และตลอดระยะเวลาที่ท่านประกาศเผยแผ่สารในฐานะที่เป็นพระดำรัสของพระเจ้า ท่านได้แสดงแนวทางพิเศษที่มีความสอดคล้องเสมอต้นเสมอปลายไม่ขัดแย้งตั้งแต่แรกจนกระทั่งจบเสร็จสิ้น อันเป็นคำพูดที่พิเศษสูงส่งที่บ่งบอกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง คัมภีร์ฉบับนี้กับคำพูดของนักพูดที่มีความองอาจ หรือแตกต่างไปจากคำพูดของท่านศาสดาที่เคยได้ยินกันอย่างสม่ำเสมอก่อนหน้านั้น

อัล-กุรอาน กล่าวถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ว่า

وَمَا كُنتَ تَتْلُو مِن قَبْلِهِ مِن كِتَابٍ وَلَا تَخُطُّهُ بِيَمِينِكَ إِذًا لَّارْتَابَ الْمُبْطِلُونَ  

ก่อนหน้านั้นเจ้ามิได้อ่านคัมภีร์ใด ๆ และเจ้ามิได้เขียนด้วยมือขวาของเจ้า มิฉะนั้นแล้วพวกกล่าวความเท็จจะสงสัยอย่างแน่นอน (อัล-กุรอาน บทอังกะบูต โองการที่ 48)

อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า จงกล่าวเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ ข้าจะไม่อ่านอัล-กุรอานแก่พวกเจ้า และพระองค์จะไม่ให้พวกเจ้าได้รู้อัล-กุรอาน แน่นอน ข้าได้ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่พวกเจ้ามาก่อน พวกเจ้าไม่ใช้สติปัญญาคิดบ้างหรือ (อัล-กุรอาน บทยูนุส โองการที่ 16)

นอกจากนั้นแล้วยังอาจเป็นไปได้ว่าโองการที่ 23 บทอัลบะเกาะเราะฮฺ ที่กล่าวว่า จงนำมาสักหนึ่งบทที่มีความคล้ายกับอัล-กุรอาน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงปาฏิหาริย์ของอัล-กุรอาน และเป็นไปได้สูงที่ว่าคำสรรพนาม ฮุ ที่ติดอยู่กับคำว่า มิซลิฮี ย้อนกลับไปหาคำว่า อับดุนา (บ่าวของเรา)

สรุปก็คือ ถ้าสมมุติฐานที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นจริง แน่นอน จนถึงปัจจุบันนี้คงจะมีกลุ่มต่าง ๆ มากมายหลายร้อยกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษได้ร่วมมือกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประดิษฐ์คัมภีร์ที่มีความคล้ายเหมือนกับอัล-กุรอานขึ้นมาแล้ว แต่ทว่าจะไม่มีบุคคลที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นกระทำการเฉกเช่นนี้ขึ้นมาอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ การมาของคัมภีร์ด้วยความพิเศษต่าง ๆ ของบุคคลที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอาน

3. ความสอดคล้องและไร้ซึ่งความขัดแย้ง อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ที่ตลอด 23 ปีเต็มที่ศาสดาได้ประกาศเผยแผ่ อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาในช่วงที่มีความป่าเถื่อนโหดร้าย ไร้ซึ่งวัฒนธรรมและอารยธรรมของความเป็นมนุษย์ชาติ ในสภาพแวดล้อมทีมีทั้งความขมขื่น ความยากลำบาก และความความหวานชื่นผสมปรนเปรอกัน ประกอบกับสถานภาพและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายเหล่านั้น ได้ทีผลต่อสังคมและบุคคลอื่น แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น มิได้เกิดผลโดยตรงกับอัล-กุรอาน หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าสภาพแวดล้อมเช่นนั้นมิได้มีอิทธิพล หรือสร้างแรงกดดันต่ออัล-กุรอานแต่อย่างใด ความสอดคล้องและผสมกลมกลืนกันของอัล-กุรอาน ทั้งในด้านภาษา สำนวน และเนื้อหาสาระที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ความปาฏิหาริย์สองประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งอัล-กุรอาน กล่าวถึงสิ่งนั้นว่า

أَفَلاَ يَتَدَبَّرُونَ الْقُرْآنَ وَلَوْ كَانَ مِنْ عِندِ غَيْرِ اللّهِ لَوَجَدُواْ فِيهِ اخْتِلاَفًا كَثِيرًا  

 พวกเขาไม่พิจารณาดูอัล-กุรอานดอกหรือ หากว่า อัล-กุรอานมาจากผู้ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนพวกเขาก็จะพบความขัดแย้งกันมากมาย (อัล-กุรอาน บทอันนิซาอฺ โองการที่ 82)

คำอธิบาย มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีความสามารถหรือไม่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทแตกต่างกัน กล่าวคือ

1. กลุ่มบุคคลทีมีการเรียนรู้และพัฒนาด้านความสามารถไปที่ละน้อยตามขั้นตอน ความรู้ของพวกเขาจะเพิ่มพูน และความสามารถในเรื่องการพูดจะค่อย ๆ แสดงออกมา แน่นอน ตลอดระยะเวลาภายใน 20 กว่าปีนั้น จะมองเห็นความแตกต่างและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคำพูดของพวกเขาได้อย่างชัดเจน

2. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงการมีชีวิตอยู่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ความรู้สึก และอารมณ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเรื่องความหวาดกลัว ความหวัง ความโศกเศร้า ความสุข และตลอดจนความสงบ ความแตกต่างของสภาวะเหล่านี้ย่อมเป็นผลโดยตรงที่กับความคิด คำพูด และการกระทำของบุคคล แน่นอน สภาพที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงย่อมก่อให้ผลและทำให้คำพูดของเขาเกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน สรุปก็คือ การเปลี่ยนแปลงด้านคำพูดเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานภาพ และสภาวการณ์ของจิตใจซึ่งสิ่งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมที่ตนอาศัยอยู่

ถ้าเราตั้งสมมุติฐานขึ้นว่าอัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีความเข็มแข็งเด็ดเดี่ยว และเปลี่ยนแปลงตามสภาพที่กล่าวมาแล้วประกอบกับเงื่อนไขที่แตกต่าง ตลอดอายุขัยของท่านและสภาวการณ์อีกทั้งแรงบีบบังคับต่าง ๆ จากสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่เราก็ยังไม่พบว่าสภาพการณ์เหล่านั้นมีอิทธิพลสร้างความขัดแย้ง และความแตกต่างในตัวของท่านศาสดาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าความสอดคล้องกันและไร้ซึ่งความขัดแย้งเป็นหลักประกันว่า อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์ที่อยู่ในระดับชั้นที่มีความสูงส่งในแง่ของสำนวนโวหารและวาทศิลป์ และแฝงไว้ด้วยความอัศจรรย์เป็นพิเศษของตัวเอง สิ่งนี้ย่อมบ่งบอกให้เห็นว่าคัมภีร์อัล-กุรอาน ได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากแหล่งของความรู้ที่แน่นอนไร้ขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงครอบคลุมอยู่เหนือธรรมชาติ และพระองค์จะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้



[1] อุซูลกาฟียฺ เล่ม 1 หน้า 24
[2] อะอฺลามุวะรอ หน้า 27, 28 และหน้า 49, ซีเราะตุล อิบนิฮิชาม เล่ม 1 หน้า 293, หน้า 410
[3] ตัฟซีร นูรุลซะเกาะลัยนฺ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว