บทที่ 28 : ตอบข้อสงสัยบางประการ

-          ปาฏิหาริย์ เป็นตัวทำลายตัวการของสาเหตุหรือไม่

-          ภารกิจเหนือธรรมชาติมิใช่ตัวแปรที่เปลี่ยนแบบฉบับของพระเจ้าดอกหรือ

-          เพราะสาเหตุใด ท่านศาสดาจึงหลีกเลี่ยงการแสดงปาฏิหาริย์

-          ปาฏิหาริย์ เป็นเหตุผลของสติปัญญาหรือเหตุผลต้องปฏิบัติตาม

ตอบข้อสงสัยบางประการ

มีคำถามและข้อคลางแคลงใจมากกมาย เกี่ยวกับประเด็นของเรื่องปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซะฮฺ) ซึ่งจะขออธิบายและทำความเข้าใจพอสังเขปเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว

1. ข้อสงสัยประการแรก ทุกปรากฏการทางธรรมชาติย่อมมีเหตุผลอันเฉพาะเจาะจง ซึ่งสามารถรู้จักได้ด้วยการช่วยเหลือด้านการทดสอบหรือทดลองต่าง ๆ ซึ่งการไม่สามารถรู้จักสาเหตุของปรากฏการดังกล่าวได้นั่นเป็นเพราะสื่อในการทดลองบกพร่อง อันไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลอ้างได้ว่าไม่มีสาเหตุของการเกิดปรากฏการอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าปรากฏการที่อยู่เหนือธรรมชาติมีอยู่วิธีการเดียวที่สามารถยอมรับได้ กล่าวคือสิ่งนั้นเป็นผลมาจากสาเหตุและปัจจัยที่มิได้ถูกรู้จัก หรืออย่างมากสุดการรู้จักสาเหตุเหล่านั้นอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ถูกรู้จักจึงสามารถเรียกได้ว่านั่นเป็น ปาฏิหาริย์ ส่วนการปฏิเสธสาเหตุที่สามารถรู้จักได้โดยขบวนการทดลองต่าง ๆ ด้านวิชาการ หมายถึงการไม่ยอมรับความเป็นรากฐานของสาเหตุ

คำตอบ ความเป็นรากฐานของสาเหตุไม่สามารถเกินเลยมากไปกว่านี้ได้ กล่าวคือสำหรับทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่เป็นผลลัพธ์หรือขึ้นอยู่กับสาเหตุที่มีอยู่ แต่การมีอยู่ของทุกสาเหตุจำเป็นต้องถูกรู้จักด้วยการทดลองด้านวิชาการ ไม่ถือว่าสิ่งนั้นเป็นความจำเป็นแห่งรากฐานของสาเหตุ และไม่สามารถค้นหาเหตุผลได้เนื่องจากการทดลองด้านวิชาการถูกจำกัดอยู่ในภารกิจที่เป็นธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้น การทดลองไม่สามารถพิสูจน์การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของภารกิจที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการทดลองไม่มีผลต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด

ส่วนการอธิบาย ปาฏิหาริย์ ว่าเป็นการรู้แจ้งจากสาเหตุที่ไม่ถูกรู้จักเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากถ้าการรู้จักนั้นเกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยธรรมดาทั่วไปจะไม่มีความแตกต่างกันกับปรากฏการธรรมดาทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถเรียกปรากฏการนั้นว่าเป็น ปาฏิหาริย์ หรือเป็นภารกิจเหนือธรรมชาติได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากการรู้จักที่เกี่ยวข้องนั้นมิได้เกิดจากปัจจัยธรรมดาทั่วไป ถือว่าสิ่งนั้นเป็นภารกิจเหนือธรรมชาติ และภารกิจนั้นสัมพันธ์กับคำอนุญาตอันเฉพาะเจาะจงของพระเจ้า ในฐานะของเหตุผลที่ยืนยันถึงสภาวะการเป็นนบีด้วยแล้ว ถือว่าสิ่งนั้นเป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซะฮฺ) ดังเช่น ท่านศาสดาอีซา (อ.) รู้จักอาหารและความระทมทุกข์ของประชาชน ซึ่งถือว่าสิ่งนั้นเป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ของท่าน ดังอัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَرَسُولاً إِلَى بَنِي إِسْرَائِيلَ أَنِّي قَدْ جِئْتُكُم بِآيَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ أَنِّي أَخْلُقُ لَكُم مِّنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ فَأَنفُخُ فِيهِ فَيَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِ اللّهِ وَأُبْرِىءُ الأكْمَهَ والأَبْرَصَ وَأُحْيِي الْمَوْتَى بِإِذْنِ اللّهِ وَأُنَبِّئُكُم بِمَا تَأْكُلُونَ وَمَا تَدَّخِرُونَ فِي بُيُوتِكُمْ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَةً لَّكُمْ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ

และ (อีซา) เป็นเราะซูลที่ถูกส่งไปยังวงศ์วานอิสรออีล (โดยตกลงให้เขากล่าวว่า) แท้จริง ข้าได้นำสัญญาณหนึ่งจากพระผู้อภิบาลของเจ้ามายังพวกเจ้าแล้ว ข้าจะปั้นสิ่งที่คล้ายกับนกด้วยดินนั้นให้แก่พวกเจ้า แล้วข้าจะเป่าเข้าไปบนนั้นแล้วสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นนกด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ข้าจะรักษาคนตาบอดแต่กำเนิดและคนเป็นโรคเรื้อนให้หาย และข้าจะให้ผู้ที่ตายแล้วมีชีวิตฟื้นขึ้นมาด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และข้าจะบอกพวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าบริโภคและสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้ในบ้านของพวกเจ้า แท้จริง ในนั้นมีสัญญาณสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (บทอาลิอิมรอน / 49)

แต่ไม่สามารถกำหนดให้ปาฏิหาริย์เฉพาะเจาะจงอยู่แค่ส่วนนี้เท่านั้นและปฏิเสธในส่วนอื่นที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงเหลืออยู่กล่าวคือ ความแตกต่างระหว่างปรากฏการนี้กับปรากฏการที่เหนือธรรมชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรากฐานของสาเหตุคืออะไร

2. ข้อสงสัยประการที่สอง แบบฉบับของพระเจ้าคือทุกปรากฏการที่เกิดขึ้นอุบัติมาจากสาเหตุอันเฉพาะเจาะจง อัล-กุรอานเองกำชับว่าแบบฉบับของพระเจ้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

سُنَّةَ مَن قَدْ أَرْسَلْنَا قَبْلَكَ مِن رُّسُلِنَا وَلاَ تَجِدُ لِسُنَّتِنَا تَحْوِيلاً  

นี่คือแนวทางของผู้ที่เราได้ส่งเขามาก่อนเจ้าจากบรรดาเราะซูลของเรา และเจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงในแนวทางของเราแต่ประการใด (บทอัลอิสรอ / 77)

นี่คือแนวทางของผู้ที่เราได้ส่งเขามาก่อนเจ้าจากบรรดาเราะซูลของเรา และเจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงในแนวทางของเราแต่ประการใด (บทอัลอะฮฺซาบ / 62)

ในบทฟาฏิร โองการที่ 42, และบทอัล-ฟัตฮฺ โองการที่ 23 ก็กล่าวเน้นไว้เช่นกันว่าแบบฉบับของพระเจ้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ ปาฏิหาริย์หรือภารกิจเหนือธรรมชาติทั้งหลายอยู่ในฐานะเปลี่ยนแปลงแบบฉบับของพระเจ้า จึงถูกยกเลิกด้วยโองการต่าง ๆ เหล่านี้

คำตอบ ข้อสงสัยนี้มีความคล้ายเหมือนกับข้อสงสัยก่อนหน้านี้ จะแตกต่างกันตรงที่ว่าความสงสัยก่อนหน้านี้พิสูจน์ด้วยสติปัญญา ส่วนความสงสัยในข้อนี้พิสูจน์ด้วยอัล-กุรอาน ส่วนคำตอบก็คือ การกำหนดให้สาเหตุของการเกิดปรากฏการต่าง ๆ อยู่ในสาเหตุธรรมดาทั่วไปเป็นหนึ่งในแบบฉบับอันไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้า เป็นคำกล่าวที่ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใด ประหนึ่งบุคคลที่กล่าวอ้างว่าสาเหตุแห่งความร้อนของไฟเป็นหนึ่งในแบบฉบับอันไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้า ซึ่งการเผชิญหน้ากับคำกล่าวอ้างทำนองนี้สามารถกล่าวได้ว่า การมีสาเหตุมากมายหลายประเภทสำหรับผลลัพธ์แตกต่างกัน หรือการเป็นตัวแทนของสาเหตุที่ไม่ธรรมดาสำหรับสาเหตุธรรมดาทั่วไป เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำบนโลกนี้ ดังนั้น เราต้องยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นหนึ่งในแบบฉบับของพระเจ้าหรือ และการกำหนดให้สาเหตุอยู่ในสาเหตุธรรมดาทั่วไปเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหรือ อัล-กุรอานจึงได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น

อย่างไรก็ตามการอธิบายอัล-กุรอานโองการที่ระบุว่า แบบฉบับของพระเจ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในฐานะแทนที่ไม่ยอมรับสาเหตุธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบฉบับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงถือว่าเป็นการอธิบายอัล-กุรอานแบบไม่มีเหตุผล ทว่ามีโองการตั้งมากมายที่กล่าวถึงปาฏิหาริย์และภารกิจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุผลอันหนักแน่นที่ยืนยันว่าการอธิบายอัล-กุรอานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ส่วนการอธิบายที่ถูกต้องจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าจากตำราอรรถาธิบายอัล-กุรอาน ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวพอเป็นสังเขปเท่านั้นกล่าวคือ โองการต่าง ๆ ที่หยิบยกขึ้นมานั้นเป็นการบ่งบอกถึงการห้ามมิให้ผลลัพธ์ขัดแย้งกับสาเหตุ มิใช่เป็นการห้ามมิให้มีสาเหตุหลากหลาย หรือห้ามมิให้สาเหตุที่อยู่เหนือธรรมชาติแทนที่สาเหตุธรรมดาทั่วไป ทว่าบางทีอาจกล่าวได้ว่าความแน่นอนของโองการที่กำลังกล่าวถึงคือ ผลของสาเหตุที่มิใช่สาเหตุธรรมดาทั่วไปก็เป็นได้

3. ข้อสงสัยประการที่สาม อัล-กุรอานกล่าวว่า ประชาชนร้องขอให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) แสดงปาฏิหาริย์ออกมา แต่ท่านศาสดาไม่ยอมตอบรับโดยหลีกเลี่ยงเสีย ดังอัล-กุรอานในบทอัล-อันอาม โองการที่ 37,109, บทยูนุส โองการที่ 20 , บทอัรเราะอฺดุ โองการที่ 7 บทอัล-อันบิยาอฺ โองการที่ 5

وَقَالُواْ لَوْلاَ نُزِّلَ عَلَيْهِ آيَةٌ مِّن رَّبِّهِ قُلْ إِنَّ اللّهَ قَادِرٌ عَلَى أَن يُنَزِّلٍ آيَةً وَلَكِنَّ أَكْثَرَهُمْ لاَ يَعْلَمُونَ  

พวกเขากล่าวว่า ไฉนเล่าจึงไม่มีสัญญาณหนึ่งจากพระผู้อภิบาลของเขาถูกประทานลงมาแก่เขา จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงพลานุภาพที่จะประทานสัญญาณหนึ่งลงมา แต่ทว่าส่วนมากพวกเขานั้นไม่รู้ (อันอาม / 37)

ถ้าหากว่าการแสดงปาฏิหาริย์เป็นหนึ่งในแนวทางสำหรับพิสูจน์สภาวะความเป็นศาสดาแล้วละก็ ทำไมท่านศาสดาจึงไม่ใช่วิธีการดังกล่าว

คำตอบ โดยปกติโองการทำนองนี้จะเกี่ยวข้องกับการร้องขอภายหลังจากข้อพิสูจน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งการพิสูจน์สภาวะการเป็นศาสดาทั้งสามแนวทาง (เครื่องหมายที่สัจจริง การแจ้งข่าวของศาสดาองค์ก่อน และการแสดงปาฏิหาริย์) หรือภายหลังจากความดื้อดึงความอวดดีหรือมีเจตนารมณ์อื่นที่นอกเหนือไปจากการค้นหาสัจธรรมความจริง ดังที่อัล-กุรอานกล่าวตำหนิว่า

وَإِن كَانَ كَبُرَ عَلَيْكَ إِعْرَاضُهُمْ فَإِنِ اسْتَطَعْتَ أَن تَبْتَغِيَ نَفَقًا فِي الأَرْضِ أَوْ سُلَّمًا فِي السَّمَاء فَتَأْتِيَهُم بِآيَةٍ وَلَوْ شَاءَ اللّهُ لَجَمَعَهُمْ عَلَى الْهُدَى فَلاَ تَكُونَنَّ مِنَ الْجَاهِلِينَ

หากว่าการหันห่างของพวกเขาเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับเจ้า ถ้าเจ้าสามารถแสวงหาช่องทางลงไปในแผ่นดินหรือพาดบันไดขึ้นสู่ฟากฟ้า (เจ้าคงทำไปแล้ว) เพื่อนำเอาสัญญาณอื่นมาให้พวกเขา (แต่พวกดื้อดึงจะไม่ศรัทธาเด็ดขาด) และหากว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว แน่นอน พระองค์จะทรงรวบรวม (บังคับ) พวกเขาให้อยู่ในทางนำ (แต่การบังคับให้ศรัทธาจะมีประโยชน์อันใด) ดังนั้น เจ้าจงอย่าเป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้งมงาย (บทอัล-อ้นอาม 35)

นอกจากอัล-กุรอาน โองการดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายโองการที่กล่าวตำหนิพวกดื้อดึงเอาไว้ เช่น บทอันอาม โองการที่ 124, บทฏอฮา โองการที่ 133, บทอัซซอฟาต โองการที่ 41, บทอัลเกาะมัร โองการที่ 2, บทอัชชุอะรออฺ โองการที่ 3, 4, 197, บทอัลอิสรอ โองการที่ 59, บทอัรโรม โองการที่ 58 ซึ่งวิทยปัญญาของพระเจ้าระบุว่าพระองค์จะไม่สนองตอบการร้องขอประเภทนี้อย่างเด็ดขาด

คำอธิบาย เป้าหมายของการนำเสนอปาฏิหาริย์ – ภารกิจที่ได้รับการยกเว้นในระบบของการบริบาลโลกนี้ บางครั้งนำเสนอเนื่องจากตอบสนองคำเรียกร้องของประชาชน เช่น การฝูงอูฐของศาสดาซอลิฮฺ (อ.) ที่เดินออกมาจากภูเขา ในบางครั้งนำเสนอเพื่อเป็นปฐมบทของภารกิจอื่น เช่น ปาฏิหาริย์ของศาสดาอีซา (อ.)- เพื่อการรู้จักศาสดาของพระเจ้า และเพื่อให้เหตุผลและขอพิสูจน์ของพระเจ้าในหมู่ประชาชนสิ้นสุดลง มิใช่เป็นการบังคับให้รับการประกาศเชิญชวนของบรรดาศาสดา หรือการยอมรับในคำเชิญแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือมิใช่เป็นการรวมรวมสื่อเพื่อให้ประชาชนหมกมุ่นอยู่กับกิจหนึ่ง หรือมิได้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายระบบของสาเหตุธรรมดาทั่วไป และไม่ได้มีเจตนาเพื่อตอบสนองทุกการเรียกร้องของประชาชน ทว่าการตอบสนองบางประการถือว่าขัดแย้งกับวิทยปัญญาของพระเจ้า และเท่ากับทำให้เจตนารมณ์ของพระองค์บกพร่อง เช่น การเรียกร้องในกิจการบางอย่างที่ทำให้การเลือกสรรถูกปิดกั้น และเป็นการบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับคำเชิญชวนของบรรดาศาสดา หรือคำเรียกร้องของบรรดาผู้ดื้อรั้น และอวดดีซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการอื่นได้มิใช่เพื่อการค้นหาความจริง เนื่องจากพวกเขาต้องการให้มีผู้นำเสนอปาฏิหาริย์และให้ประชาชนหมกมุ่นในกิจการนั้นเป็นการคร่าเวลาให้หมดไปชั่วคราว หรือเพื่อสรรหาผลประโยชน์ส่วนตัวพวกเขาจึงได้เข้ามารายล้อมบรรดาศาสดา อีกด้านหนึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูด้านการทดลองและการเลือกสรรโดยเจตนารมณ์เสรี เท่ากับบีบบังคับให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการยอมรับและเชื่อฟังปฏิบัติตามท่านศาสดา (อ.) ซึ่งทั้งสองกรณีถือว่าขัดแย้งกับวิทยปัญญาและเป้าหมายในการนำเสนอปาฏิหาริย์ แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ประกอบกับวิทยปัญญาของพระเจ้าก็กำหนดให้ตอบสนองคำเรียกร้องเหล่านั้น เช่น ปาฏิหาริย์จำนวนมากมายได้ถูกนำเสนอโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  ดังรายงานที่เชื่อได้ ๆ บันทึกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในปาฏิหาริย์ที่เป็นอมตะของศาสดาคือ อัล-กุรอานที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะขออธิบายในโอกาสต่อไป

4. ข้อสงสัยประการที่สี่ ในมุมมองหนึ่งปาฏิหาริย์ขึ้นอยู่กับคำอนุญาตอันเฉพาะเจาะจงของพระเจ้า สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงระหว่างพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร กับผู้นำปาฏิหาริย์มาแสดงด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ให้คำอนุญาตอันเฉพาะเจาะจงกับเขา อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่าภารกิจของพระองค์อยู่ในมือของเขา และเขาอยู่ในฐานะของผู้ปฏิบัติให้ปาฏิหาริย์นั้นเป็นจริงขึ้นมา แต่สิ่งจำเป็นทางสติปัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ประเภทนี้มิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากยังมีความสัมพันธ์อื่นระหว่างพระเจ้ากับผู้นำปาฏิหาริย์ลงมาในฐานะของเราะซูลและผู้รับวะฮฺยู ดังนั้น ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าปาฏิหาริย์เป็นเหตุผลทางสติปัญญาเพื่อยืนยันความถูกต้องของคำกล่าวอ้างในการเป็นศาสดา อย่างมากก็เป็นได้แค่เหตุผลที่เกิดจากการคาดเดาเท่านั้น

คำตอบ ภารกิจเหนือธรรมชาติหรือปาฏิหาริย์ –แม้ว่าจะเป็นปาฏิหาริย์ของพระเจ้า – แต่ตัวของมันมิได้แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ด้านวะฮฺยูแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า กะรอมาตของบรรดาหมู่มวลมิตรของพระเจ้าเป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงความเป็นศาสดาของท่านเหล่านั้น แต่กำลังกล่าวถึงบุคคลที่กล่าวอ้างการเป็นศาสดาของตน และนำปาฏิหาริย์มาเพื่อยืนยันและรับรองความเป็นศาสดาของตน สมมุติว่า ถ้าบุคคลเช่นนี้มุสาและกล่าวอ้างความเป็นศาสดาของตนจริง หมายถึงเขาได้กระทำบาปใหญ่อันเป็นสาเหตุของความชั่วช้าที่สุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า

وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللّهِ كَذِبًا أَوْ كَذَّبَ بِآيَاتِهِ إِنَّهُ لاَ يُفْلِحُ الظَّالِمُونَ  

และผู้ใดเล่าคือผู้อธรรมยิ่งกว่าผู้ที่อุปโลกน์ความเท็จให้แก่อัลลอฮฺ หรือปฏิเสธบรรดาโองการของพระองค์ แน่นอน บรรดาผู้อธรรมจะไม่ประสบความสำเร็จ (บทอัล-อันอาม / 21)

นอกจากโองการดังกล่าวแล้ว ยังมีอัล-กุรอานอีกหลายโองการที่ตำหนิการกระทำประเภทนี้ และประณามว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความชั่วช้ายิ่ง เช่น อัล-กุรอานบทอัล-อันอาม โองการที่ 93, 144, บทอัลอะอฺรอฟ โองการที่ 37, บทยูนุส โองการที่ 17, บทฮูด โองการที่ 18, บทอัล-กะฮฺฟิ โองการที่ 15, บทอังกะบูต โองการที่ 68, บทอัชชูรอ โองการที่ 24

แน่นอน บุคคลดังกล่าวนี้ไม่มีความเหมาะสมและไม่คู่ควรต่อการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า และวิทยปัญญาของพระองค์ก็ไม่อนุญาตมอบอำนาจให้เขาแสดงปาฏิหาริย์อย่างแน่นอน เพื่อว่าจะได้ไม่เป็นสาเหตุทำให้ปวงบ่าวหลงทาง อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَلَوْ تَقَوَّلَ عَلَيْنَا بَعْضَ الْأَقَاوِيلِ  لَأَخَذْنَا مِنْهُ بِالْيَمِينِ  ثُمَّ لَقَطَعْنَا مِنْهُ الْوَتِينَ 

 หากเขา (มุฮัมมัด) เสกสรรคำเท็จบางคำแก่เรา เราจะจับเขาด้วยอำนาจของเรา แล้วเราจะตัดเส้นหัวใจของเขาให้ขาดลง (อัลฮากเกาะฮฺ / 43-46)

สรุป สติปัญญาอันกระจ่างแจ้งบอกกับเราว่า บุคคลที่เหมาะสมและคู่ควรต่อการมีความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงกับพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะมอบอำนาจในการแสดงปาฏิหาริย์แก่เขา บุคคลนั้นต้องไม่ทรยศหรือฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ อันเป็นสาเหตุทำให้ปวงบ่าวทั้งหลายต้องหลงทางตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้ การนำปาฏิหาริย์มาแสดงถือเป็นเหตุผลทางปัญญาอันแน่นอน ที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการอ้างตนว่าเป็นศาสดา

คำถาม

1. ประโยชน์ของรากแห่งสาเหตุคืออะไร

2. เพราะเหตุใดการยอมรับในรากแห่งสาเหตุจึงไม่ขัดแย้งกับการยอมรับปาฏิหาริย์

3. เพาะสาเหตุใด การอธิบายปาฏิหาริย์ว่าเป็นการรู้จักสาเหตุที่ไม่ถูกรู้จักจึงไม่ถูกต้อง

4. การยอมรับปาฏิหาริย์ขัดแย้งกับ การยอมรับหลักการที่ว่าแบบฉบับของพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะเหตุใด

5. บรรดาศาสดานำปาฏิหาริย์มาเสนอเอง หรือว่าเสนอไปตามคำเรียกร้องของประชาชน

6. เพราะเหตุใดท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงไม่นำเสนอปาฏิหาริย์ตามคำเรียกร้องของประชาชน