บทที่ 27 : ปาฏิหาริย์

-          แนวทางพิสูจน์สภาวะการเป็นนบี

-          ความหมายของคำว่า มุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์)

-          ภารกิจเหนือธรรมชาติ

-          ภารกิจเหนือธรรมชาติของพระเจ้า

-          ความพิเศษแห่งปาฏิหาริย์ของบรรดาศาสดา

แนวทางพิสูจน์สภาวะการเป็นนบี

ประเด็นที่สามของปัญหาอันเป็นพื้นฐานของนบูวัตคือ ความสัจจริงตามคำกล่าวอ้างของบรรดาศาสดาผู้สัจจริง และคำมุสาของผู้กล่าวอ้างที่โกหกทั้งหลาย จะสามารถพิสูจน์ความจริงเท็จสำหรับบุคคลอื่นได้อย่างไร

มิต้องสงสัยเลยว่าถ้าหากมีบุคคลหนึ่งกระทำความผิด หรือเปรอะเปื้อนมลทินต่าง ๆ สติปัญญาเองก็รับรู้ถึงความไม่ดีของเขา แน่นอน บุคคลเช่นนี้จะไม่มีใครเชื่อถือและไว้วางใจเขาเด็ดขาด ดังนั้น ถ้าพิจารณาเงื่อนไขความบริสุทธิ์ของท่านศาสดาสามารถพิสูจน์ผู้กล่าวอ้างที่โกหกได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวการแอบอ้างที่ขัดแย้งกับสติปัญญา และธรรมชาติของมนุษย์หรือคำพูดหรือคำปาฐกถาที่ขัดแย้งกันเอง

อีกมุมมองหนึ่ง อาจเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งเคยมีอดีตที่งดงาม ซึ่งบุคคลทั่วไปกล่าวแสดงความชื่นชมหรือให้การยอมรับและมีความมั่นใจในตัวเขา ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสติปัญญายอมรับในความถูกต้องในคำเชิญชวนของเขา เช่นกันอาจเป็นไปได้ว่าท่านศาสดาคือบุคคลที่ถูกพยากรณ์ไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า หรือได้รับการแนะนำไว้โดยศาสดาที่มาก่อนหน้าท่าน ซึ่งบุคคลที่ถวิลหาความจริงไม่อาจเคลือบแคลงสงสัยได้เลย

แต่ในกรณีที่ประชาชนไม่มีหลักฐานอ้างอิง หรือไม่มีสัญลักษณ์อันใดพอที่จะมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นเป็นศาสดา หรือมิได้มีการประกาศแนะนำไว้โดยศาสดาก่อนหน้านี้ แน่นอน เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ย่อมต้องการแนวทางอื่นเพื่อพิสูจน์การเป็นศาสดา อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกรทรง ผู้ทรงเดชานุภาพทรงเปิดแนวทางดังกล่าวให้กว้างขึ้นด้วยวิทยปัญญาแห่งพระองค์ พระองค์ทรงมอบปาฏิหาริย์แก่บรรดาศาสดาทั้งหลาย เพื่อให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งยืนยันและรับรองคำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของท่าน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า สัญลักษณ์

สรุป ความถูกต้องของคำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของบรรดาศาสดาทั้งหลาย สามารถพิสูจน์ได้ 3 วิธี กล่าวคือ

1. เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความมั่นใจ เช่น ความมีสัจจะ การพูดความจริง และการไม่หันเหออกจากสัจธรรมความจริง และความยุติธรรมตลอดช่วงอายุขัยของท่าน แต่สิ่งนี้จะเป็นที่ยอมรับในสายตาของประชาชนก็ต่อเมื่อศาสดาท่านนั้น ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับประชาชนจนเป็นที่รู้จักมักคุ้นและเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไป แต่ถ้าศาสดาบางท่านมีชีวิตในวัยเด็กไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้น หรือประชาชนไม่ทันที่จะรู้จักบุคลิกภาพของท่านอย่างดีพอ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาเสียก่อน ดังนั้น แนวทางนี้ไม่สามารถพิสูจน์คำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของท่านได้อย่างแน่นอน

2. คำแนะนำของศาสดาก่อนหน้านี้ หรือศาสดาองค์ปัจจุบันที่กำลังจะจากไปได้แนะนำไว้ ซึ่งแนวทางนี้เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มชนที่ได้รู้จักศาสดาหลังจากนั้น จากคำแนะนำสนับสนุนของศาสดาองค์ก่อน แน่นอน ประเด็นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับศาสดาองค์แรก

3. การแสดงปาฏิหาริย์ของศาสดา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่กว้างขวางและเหมาะสมกับสภาพสังคมทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงขออธิบายแนวทางของปาฏิหาริย์ก่อนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีงาม

ความหมายของคำว่า มุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์)

มุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์) หมายถึงภารกิจหรือการกระทำหนึ่งที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ประสงค์ที่จะให้ปาฏิหาริย์นี้เกิดขึ้นมา โดยผ่านผู้ที่กล่าวอ้างว่าตนเป็นศาสดา เพื่อพิสูจน์ความสัจจริงอันเป็นสัญลักษณ์ของคำกล่าวอ้างที่ถูกต้อง

ดังนั้น ถ้าหากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะเห็นว่าความหมายตามนิยามที่กล่าวมา ครอบคลุมอยู่บน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. มีปรากฏการที่อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุธรรมดาทั่วไป หรือบนสาเหตุของวิชาการทั้งหลาย

2. บางปรากฏการที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น เกิดขึ้นโดยน้ำมือของศาสดา ซึ่งเป็นพระประสงค์อันเฉพาะของพระเจ้าและโดยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น

3. ปรากฏการที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น เป็นเครื่องหมายที่ยืนยันและรับรองคำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของศาสดา ซึ่งตามหลักภาษาเรียกปรากฏการที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นว่า มุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์)

ลำดับต่อไปจะอธิบายถึงองค์ประกอบสำคัญของทั้งสามนั้นตามความหมายที่กล่าวมา

ภารกิจเหนือธรรมชาติ

ปรากฏการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้โดยปกติแล้วเกิดบนเงื่อนไขของเหตุและผล ซึ่งสามารถรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยการตรวจสอบหรือการทดลองต่าง ๆ เช่น ส่วนใหญ่ของปรากฏการที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการด้านฟิสิกซ์ เคมี ชีววิทยา และจิตวิทยา ส่วนปรากฏการที่เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย ถือว่าเป็นเสี้ยวส่วนของปรากฏการเหล่านี้ซึ่งมีการเกิดในอีกลักษณะหนึ่ง ไม่สามารถรู้จักเหตุและผลของทั้งหมดได้ด้วยการทดสอบหรือทดลองผ่านปราสาทสัมผัส เพื่อที่จะยกเอาสิ่งนั้นเป็นหลักฐานของการเกิดปรากฏการ แน่นอน การค้นพบปรากฏการประเภทนี้ต้องอาศัยปัจจัยและตัวการอื่นอันมีผลต่อการเกิด เช่น ภารกิจที่เหนือความคาดหมายของพวกมุรตะฎอ (ผู้ฝึกฝนพลังจิตจนเข็มแข็งพิเศษสามารถใช้จิตบังคับหรือควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในแถบประเทศอินเดีย) ที่กระทำกัน ซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญวิชาการในสาขาต่าง ๆ ลงความเห็นว่าภารกิจเหนือความคาดหมายเหล่านี้ มิได้เกิดตามกฎเกณฑ์ของวิชาการด้านวัตถุ หรือวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ซึ่งภารกิจเหล่านี้เรียกว่า ภารกิจเหนือธรรมชาติ

ภารกิจเหนือธรรมชาติของพระเจ้า

ภารกิจเหนือธรรมชาติสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้ ประเภทแรกภารกิจต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่มีเหตุและผลทั่ว ๆ ไปกำกับก็ตาม ส่วนสาเหตุที่มิได้เป็นสาเหตุทั่วไปไม่มากก็น้อยถูกจัดวางไว้ในเจตนารมณ์เสรีของมนุษย์ ซึ่งสามารถค้นพบสิ่งเหล่านั้นได้จากการทดลองและการฝึกฝนเป็นพิเศษ เช่น การฝึกฝนของพวกมุรตะฎออินเดียว

ประเภทที่สอง มีภารกิจเหนือธรรมชาติบางประเภท เวลาจะปรากฏขึ้นต้องอาศัยคำอนุญาตพิเศษจากพระเจ้าเท่านั้นจึงจะปรากฏขึ้นได้ การครอบครองปรากฏการเหล่านั้นจะไม่ตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่มีสายสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้า ซึ่งปรากฏการดังกล่าวนี้มีคุณลักษณะพิเศษอันเป็นพื้นฐานสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ไม่สามารถเรียนรู้หรือสอนได้ ประการที่สอง ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลที่เหนือกว่า และไม่พ่ายแพ้แก่ปัจจัยอื่นเด็ดขาด แน่นอน ภารกิจเหนือธรรมชาติเหล่านี้จะตกอยู่ในน้ำมือของปวงบ่าวที่ได้รับการเลือกสรรพิเศษแล้วจากพระเจ้า จะไม่ตกอยู่ในมือของพวกที่บูชาอารมณ์เป็นพระเจ้า หรือพวกที่หลงผิดเด็ดขาด ขณะเดียวกันจะไม่จำกัดอยู่แค่บุคคลที่เป็นศาสดาเท่านั้น ทว่าบางครั้งหมู่มวลมิตรของพระเจ้าบางท่านก็สามารถแสดงภารกิจเหล่านี้ได้เช่นกัน ด้วยสาเหตุนี้เอง ถ้าพิจารณาตามวิชาการด้านศาสนศาสตร์แล้วไม่สามารถเรียกทั้งหมดว่าเป็น มุอฺญิซะฮฺ (ปาฏิหาริย์) ได้ เพราะโดยปกติแล้วภารกิจเหนือธรรมชาติบางอย่างที่เกิดกับบุคคลที่มิได้เป็นศาสดา จะเรียกว่า กะรอมัต (สิ่งประหลาดใจอันน่าพิศวง) เหมือนกับความรู้ที่มิใช่ความรู้ธรรมดาทั่วไปของพระเจ้า มิได้จำกัดอยู่แค่วะฮฺยูและนบูวัติ เมื่อความรู้เหล่านี้ถูกมอบให้แก่บุคคลอื่นจะเรียกว่า อิลฮาม (การดลใจ)

ขณะเดียวกันแนวทางการรู้จักภารกิจเหนือธรรมชาติ 2 ประเภทนี้ (เพื่อพระเจ้าและมิใช่เพื่อพระเจ้า) ก็ถูกรู้จักไปโดยปริยาย หมายถึงภารกิจเหนือธรรมชาติใดที่เกิดจากการเรียนรู้และการฝึกฝน หรือมีปัจจัยอื่นสามารถหยุดหรือดำเนินภารกิจนั้นต่อไปได้ หรือสามารถทำลายผลของภารกิจนั้นได้ จะไม่ถือว่าภารกิจนั้นเป็นปาฏิหาริย์ของพระเจ้า เช่น คนทำบาปหรือคนที่มีความเชื่อไม่ถูกต้อง หรือมีจริยธรรมต่ำทราม สามารถแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์อื่นที่บ่งบอกว่าตนมิได้สัมพันธ์อยู่กับพระเจ้า แต่สัมพันธ์อยู่กับชัยฏอนหรืออำนาจฝ่ายต่ำ

ตรงนี้จะชี้ให้เห็นอีกประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตัวการของภารกิจเหนือธรรมชาตินั้นคือพระเจ้า (นอกเหนือจากตัวการที่สัมพันธ์กับสิ่งถูกสร้างทั้งหมดอันเป็นปรากฏการธรรมดาทั่วไป) จากสาเหตุนี้เองการเกิดปรากฏการเหล่านั้นต้องอาศัยอำนาจและคำอนุญาตของพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَكَذَلِكَ أَنزَلْنَاهُ حُكْمًا عَرَبِيًّا وَلَئِنِ اتَّبَعْتَ أَهْوَاءَهُم بَعْدَ مَا جَاءَكَ مِنَ الْعِلْمِ مَا لَكَ مِنَ اللّهِ مِن وَلِيٍّ وَلاَ وَاقٍ  

และในทำนองนั้น เราได้ประทานอัล-กุรอานแก่เขา เพื่อเป็นข้อตัดสินอันชัดแจ้งเป็นภาษาอาหรับ ถ้าหากเจ้าปฏิบัติตามอำนาจฝ่ายต่ำของพวกเขาหลังจากหลักฐานได้มายังเจ้าแล้ว จะไม่มีผู้ช่วยเหลือและผู้คุ้มกันเจ้าการลงโทษของอัลลอฮ (อัรเราะอฺดุ / 37)

หรือผ่านสื่อ เช่น เหล่ามะลักข้าทาสบริภารของพระองค์หรือเราะซูล โดยถือเอาทั้งมะลักและเราะซูลเป็นเพียงสื่อกลางหรือตัวการใกล้ชิดที่ก่อให้เกิดปาฏิหาริย์ ดังที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงการชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา หรือการรักษาเยียวยาคนป่วยที่เป็นโรคเรื้อนเรื้อรัง ตลอดจนการบันดาลนกให้มีชีวิตโดยน้ำมือของศาสดาอีซา (อ.) อัล-กุรอานกล่าว ว่า

وَرَسُولاً إِلَى بَنِي إِسْرَائِيلَ أَنِّي قَدْ جِئْتُكُم بِآيَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ أَنِّي أَخْلُقُ لَكُم مِّنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ فَأَنفُخُ فِيهِ فَيَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِ اللّهِ وَأُبْرِىءُ الأكْمَهَ والأَبْرَصَ وَأُحْيِي الْمَوْتَى بِإِذْنِ اللّهِ وَأُنَبِّئُكُم بِمَا تَأْكُلُونَ وَمَا تَدَّخِرُونَ فِي بُيُوتِكُمْ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَةً لَّكُمْ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ  

และ (อีซา) ในฐานะที่เป็นศาสดาได้ถูกส่งไปยังวงศ์วานอิสรออีล (กล่าวว่า) แท้จริง ฉันได้นำสัญญาณหนึ่งจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้ามายังพวกเจ้าแล้ว ฉันจะบันดานสิ่งที่มีรูปร่างคล้ายนกขึ้นจากดินให้แก่พวกเจ้า แล้วฉันจะเป่าไปบนมันแล้วสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นนกด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ฉันจะรักษาคนตาบอดแต่กำเนิดและคนเป็นโรคเรื้อนให้หายปกติ ฉันจะให้ผู้ที่ตายแล้วฟื้นมีชีวิตขึ้นมาใหม่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ แล้วฉันจะบอกพวกเจ้าถึงสิ่งที่พวกเจ้าบริโภคและสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้ในบ้านของพวกเจ้า แน่นอนในนั้นย่อมมีสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา (อาลิอิมรอน / 49)

หรือในบทอัล-มาอิดะฮฺ โองการที่ 110 กล่าวว่า

ِذْ قَالَ اللّهُ يَا عِيسى ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتِي عَلَيْكَ وَعَلَى وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدتُّكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلاً وَإِذْ عَلَّمْتُكَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَالتَّوْرَاةَ وَالإِنجِيلَ وَإِذْ تَخْلُقُ مِنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ بِإِذْنِي فَتَنفُخُ فِيهَا فَتَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِي وَتُبْرِىءُ الأَكْمَهَ وَالأَبْرَصَ بِإِذْنِي وَإِذْ تُخْرِجُ الْمَوتَى بِإِذْنِي وَإِذْ كَفَفْتُ بَنِي إِسْرَائِيلَ عَنكَ إِذْ جِئْتَهُمْ بِالْبَيِّنَاتِ فَقَالَ ا لَّذِينَ كَفَرُواْ مِنْهُمْ إِنْ هَذَا إِلاَّ سِحْرٌ مُّبِينٌ  

จงรำลึกถึงครั้นอัลลอฮฺ ตรัสแก่อีซาบุตรของมัรยัมว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้า และมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนเจ้าด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์โดยให้เจ้าพูดกับประชาชน ขณะที่อยู่ในเปล และขณะที่อยู่ในวัยกลางคน ข้าได้สอนคัมภีร์และวิทยปัญญาตลอดจนอัต-เตารอตและอัล-อิน-ญีลแก่เจ้า ขณะที่เจ้าสร้างดั่งรูปนกขึ้นจากดินด้วยอนุมัติของข้า แล้วเจ้าเป่าเข้าไปบนนกนั้นสิ่งนั้นก็กลายเป็นนกด้วยอนุมัติของข้า และที่เจ้าทำให้คนตาบอดแต่กำเนิด คนเป็นโรคผิวหนังหายขาดด้วยอนุมัติของข้า เจ้าทำให้คนตายฟื้นคืนชีพขึ้นมาด้วยอนุมัติของข้า ขณะที่ข้าได้ยับยั้งและหันเหวงศ์วานอิสรออีลออกจากไปเจ้า ขณะนั้นเจ้าได้นำบรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งมายังพวกเขา บรรดาผู้ฝ่าฝืนในหมู่พวกเขาก็กล่าวว่า สิ่งนี้มิใช่อื่นใด นอกจากมายากลอันชัดแจ้งเท่านั้น

ถ้าหากพิจารณาระหว่างทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นจะพบว่าไม่มีความขัดแย้งกัน เนื่องจากตัวการคือพระเจ้า ซึ่งอยู่ในแนวตั้งของตัวการที่เป็นบ่าวของพระองค์

ความพิเศษแห่งปาฏิหาริย์ของบรรดาศาสดา

ประเด็นที่สามที่กล่าวตอนอธิบายคำว่า มุอฺญิซะฮ (ปาฏิหาริย์) กล่าวคือ ปาฏิหาริย์ของบรรดาศาสดาคือเครื่องหมายที่รับรองคำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของท่านว่าถูกต้อง ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อภารกิจเหนือธรรมชาติปรากฏขึ้นตามนิยามอันเฉพาะเจาะจงของวิชาศาสนศาสตร์จึงเรียกว่า  มุอฺญิซะฮ (ปาฏิหาริย์) ซึ่งนอกจากจะสัมพันธ์ไปยังคำอนุญาตอันเฉพาะของพระเจ้าแล้ว ยังถือเป็นเหตุผลพิสูจน์การเป็นศาสดาของบรรดาศาสดาทั้งหลายอีกด้วย ซึ่งความครอบคลุมอันน้อยนิดตามความเข้าใจที่กล่าวมา ครอบคลุมถึงภารกิจเหนือธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฐานะของเหตุผลที่พิสูจน์คำกล่าวอ้างในการเป็นอิมามว่าถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ นิยามของ กะรอมัต จึงเฉพาะเจาะจงสำหรับภารกิจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ของพระเจ้าที่เกิดจากบรรดาหมู่มวลมิตรของพระองค์ ตรงกันข้ามกับภารกิจทั่วไปที่สัมพันธ์ไปยังพลังต่าง ๆ ของอำนาจฝ่ายต่ำหรือพลังของชัยฏอน เช่น มายากล หรือการกระทำของพวกมุรตะฎออินเดีย เพราะการกระทำประเภทนี้เกิดจากการเรียนรู้หรือการฝึกฝนจนชำนาญพิเศษ และสามารถพ่ายแพ้ต่ออำนาจที่เหนือกว่า ซึ่งโดยปกติแล้วการที่ไม่ถือว่าสิ่งนั้นเป็นอำนาจของพระเจ้า เพราะสามารถตรวจสอบได้จากความเชื่อที่ผิดพลาดและจริยธรรมที่ต่ำทราม

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาในที่นี้คือ สิ่งที่กล่าวว่าเป็นปาฏิหาริย์ย่อมเกิดจากบรรดาศาสดา (อ.) โดยตรง อันเป็นเครื่องหมายยืนยันและเป็นการพิสูจน์ว่า คำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของพวกท่านว่าถูกต้อง ส่วนสาส์นและความจำเป็นต่อการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสอนขอพวกท่านขณะที่ประกาศเผยแผ่ จำเป็นต้องผ่านสื่อกลางมิได้ประกาศโดยตรง อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า สภาวะการเป็นนบีของบรรดาศาสดาทั้งหลายสามารถพิสูจน์ได้ด้วยสติปัญญา ส่วนความน่าเชื่อถือของสาส์นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลของการปฏิบัติตาม ดังคำชี้แจงผ่านมาแล้วในบทที่ 4 และบทที่ 21 ของหนังสือเล่มนี้

คำถาม

1. สามารถพิสูจน์การเป็นนบีของบรรดาศาสดาได้อย่างไร และความแตกต่างของแนวทางเหล่านั้นคืออะไร

2. เครื่องหมายที่บ่งบอกว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่โกหกคืออะไร

3. จงอธิบายมุอฺญิซะฮฺมาว่าหมายถึงอะไร

4. ภารกิจที่เป็นภารกิจเหนือธรรมชาติคืออะไร

5. ภารกิจเหนือธรรมชาติที่มาจากพระเจ้ากับที่ไม่ได้มาจากพระเจ้าต่างกันอย่างไร

6. ภารกิจเหนือธรรมชาติที่มาจากพระเจ้าสามารถพิสูจน์ได้อย่างไร

7. ความพิเศษแห่งปาฏิหาริย์ของบรรดาศาสดา ในหมู่ภารกิจที่เหนือธรรมชาติของพระเจ้าคืออะไร

8. จงอธิบายนิยามของมุอฺญิซะฮฺและกะรอมัต

9. มุอฺญิซะฮฺ เป็นภารกิจของพระเจ้าหรือของศาสดา

10. มุอฺญิซะฮฺ เป็นเหตุผลที่พิสูจน์การเป็นศาสดาหรือพิสูจน์สาส์นของท่าน