บทที่ 26 : ตอบข้อข้องใจสองสามประการ

-    มะอฺซูม (ผู้บริสุทธิ์) มีสิทธิ์ในผลรางวัลได้อย่างไร

-    ทำไมมะอฺซูมจึงสารภาพว่ากระทำความผิด

-    การแทรกแซงของชัยฏอนที่มีต่อบรรดาศาสดา จะเข้ากับการเป็นมะอฺซูมได้อย่างไร

-    การสัมพันธ์การหลงลืมไปยังศาสดาอาดัม (อ.)

-    การกล่าวถึงการมุสาของศาสดาบางท่าน

-    การสังหารกุบฏียฺโดยน้ำมือของศาสดามูซา (อ.)

-    การปฏิเสธศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เนื่องจากความคลางแคลงใจในสาส์นของท่าน

ตอบข้อข้องใจสองสามประการ

ประเด็นเกี่ยวกับการเป็นผู้บริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) เป็นที่คลางแคลงสงสัย และเกิดคำต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ดังนั้น ตรงนี้จะขอกล่าวถึงข้อสงสัยบางประการและตอบข้อข้องใจเหล่านั้น

1. ประการแรก ข้อสงสัยมีอยู่ว่า ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทำให้บรรดาศาสดาสะอาดบริสุทธิ์จากการไม่กระทำบาปกรรมแล้ว สิ่งจำเป็นที่ตามมาคือพระองค์ต้องรับประกันการปฏิบัติหน้าที่ของท่านเหล่านั้นด้วย ในกรณีนี้จะไม่สามารถพิสูจน์ความพิเศษของเจตนารมณ์เสรีและการเลือกสรรของท่านได้  อีกทั้งบรรดาศาสดายังไม่มีสิทธิรับผลรางวัลตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่หรือการหลีกเลี่ยงจากบาปกรรม เนื่องจากว่าถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทำให้บุคคลอื่นเป็นมะอฺซูมด้วย บุคคลนั้นก็ต้องคล้ายเหมือนกับบรรดาศาสดา

คำตอบ ข้อสงสัยดังกล่าวเป็นคำกล่าวอ้างที่ผ่านมาแล้วซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ความเป็นผู้บริสุทธิ์ (มะอฺซูม) มิได้หมายถึงการบีบบังคับให้กระทำหน้าที่หรือบีบบังคับให้ละเว้นบาปกรรมแต่อย่างใด ดังที่กล่าวผ่านมาแล้วในบทเรียนก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันการเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ปกป้องและพิทักษ์บรรดามะอฺซูม มิได้หมายความว่าเป็นการปฏิเสธการสัมพันธ์ภารกิจต่าง ๆ ที่เกิดจากเจตนารมณ์เสรีไปยังท่านเหล่านั้น แม้ว่าปรากฏการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสุดท้ายแล้ว ต้องสัมพันธ์ไปยังพระสงค์ของเจ้าในเรื่องการสร้างสรรค์  (อธิบายผ่านมาแล้วในบทเตาฮีด) ตรงนั้นถ้ามีทั้งความการุณย์และความสำเร็จต่าง ๆ อันเฉพาะจากพระเจ้าและสัมพันธ์ภารกิจเหล่านั้นไปยังพระองค์ถือว่าเป็นการเพิ่มเติม ทว่าต้องไม่ลืมว่าพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่ในแนวตั้งของความต้องการของมนุษย์มิใช่แนวนอน และมิได้อยู่ในฐานะตัวแทนของความต้องการของเขา

แต่สำหรับความการุณย์พิเศษที่พระเจ้าทรงมีต่อบรรดาผู้บริสุทธิ์นั้น ก็เหมือนกับสาเหตุและเงื่อนไขหรือความเป็นไปได้อันพิเศษยิ่งที่พระองค์ตระเตรียมไว้สำหรับบุคคลที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบของเขาก็จะต้องหนักขึ้น รางวัลตอบแทนก็ต้องเพิ่มมากขึ้นขณะที่การลงโทษก็ต้องทวีคูณเป็นสองเท่าถ้าเขาฝ่าฝืนคำสั่ง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าเกิดความสมดุลกันระหว่างรางวัลตอบแทนกับการลงโทษ แม้ว่าบุคคลที่เป็นมะอฺซูมได้เพราะการเจตนารมณ์เสรีที่ดีของตนจะไม่ถูกลงโทษเลยก็ตาม ซึ่งสามารถพิจารณาได้ว่าความสมดุลนี้เป็นของทุกคนที่ได้รับความโปรดปรานพิเศษจากพระเจ้า ดังเช่น บรรดานักปราชญ์หรือผู้มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบหนักและระเอียดกว่าบุคคลอื่น

อัล-กุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

يَا نِسَاءَ النَّبِيِّ مَن يَأْتِ مِنكُنَّ بِفَاحِشَةٍ مُّبَيِّنَةٍ يُضَاعَفْ لَهَا الْعَذَابُ ضِعْفَيْنِ وَكَانَ ذَلِكَ عَلَى اللَّهِ يَسِيرًا  وَمَن يَقْنُتْ مِنكُنَّ لِلَّهِ وَرَسُولِهِ وَتَعْمَلْ صَالِحًا نُّؤْتِهَا أَجْرَهَا مَرَّتَيْنِ وَأَعْتَدْنَا لَهَا رِزْقًا كَرِيمًا  يَا نِسَاءَ النَّبِيِّ لَسْتُنَّ كَأَحَدٍ مِّنَ النِّسَاء إِنِ اتَّقَيْتُنَّ فَلَا تَخْضَعْنَ بِالْقَوْلِ فَيَطْمَعَ الَّذِي فِي قَلْبِهِ مَرَضٌ وَقُلْنَ قَوْلًا مَّعْرُوفًا 

 โอ้ บรรดาภริยาของนะบีเอ๋ย ผู้ใดในหมู่พวกเธอนำความชั่วอย่างชัดแจ้งมา การลงโทษจะถูกเพิ่มให้แก่เธอเป็นสองเท่า ในการนั้นเป็นการง่ายดายยิ่งสำหรับอัลลอฮฺ และผู้ใดในหมู่พวกเธอภักดีต่ออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ และกระทำความดีเราจะให้รางวัลของพวกเธอแก่เธอเป็นสองเท่า และเราได้เตรียมปัจจัยยังชีพอันดีงามแก่เธอแล้ว โอ้ บรรดาภริยาของนะบีเอ๋ย พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีคนอื่นในเหล่าสตรีทั้งหลาย หากพวกเธอสำรวมตนต่อ (อัลลอฮฺ) ก็ไม่ควรพูดจาเพราะพริ้งนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ แต่จงพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะพอควรเถิด (บทอัลอะฮฺซาบ / 30-32)

ขณะที่พวกเขาจะได้รับผลรางวัลตอบแทนและการลงโทษในความผิด (สมมุติว่ากระทำจริง) มากเป็นพิเศษกว่าบุคคลอื่น ดังมีรายงานกล่าวว่า อัลลอฮฺทรงอภัยบาปให้คนไม่รู้เจ็ดสิบความผิดก่อนที่จะอภัยบาปหนึ่งบาปให้ผู้รู้ ด้วยเหตุนี้ บุคคลใดมีศีลธรรมจรรยาสูงส่งมากเท่าใดอันตรายก็จะยิ่งน้อยลง ขณะที่ความหวาดกลัวที่เกิดจากความหักเหและความผันแปรก็จะเพิ่มมากขึ้น

2. ประการที่สอง ข้อคลางแคลงอีกประการหนึ่งคือ จากคำขอพร (ดุอาอฺ) และคำวิงวอน (มานาญาต) ของบรรดาศาสดาและบรรดามะอฺซูมคนอื่น ๆ จะพบว่าท่านเหล่านั้นสารภาพว่าตนเองทำความผิด ท่านจึงได้วิงวอนขออภัยโทษในความผิด ดังนั้น จากคำสารภาพผิดของบรรดาผู้บริสุทธิ์จะให้ยอมรับว่าได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จากบาปกรรม

คำตอบ เนื่องจากบรรดาผู้ที่เป็นมะอฺซูม (ผู้บริสุทธิ์) มีระดับชั้นต่างกันในเรื่องความสมบูรณ์ และความใกล้ชิดกับพระเจ้า ซึ่งแต่ละท่านสำหรับตนแล้วมีหน้าที่เหนือหน้าที่ของท่านอื่น ทว่าทุกภารกิจการงานที่นอกเหนือไปจากการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า หรือผู้ที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับพวกท่านแล้วถือว่าเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ จากจุดนี้เองมะอฺซูมจึงได้ทำการวิงวอนในความผิดพลาดและอยู่ในฐานะของผู้ขออภัย ก่อนหน้านี้กล่าวไปแล้วว่า จุดประประสงค์ของความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาคือ ความบริสุทธิ์จากทุกภารกิจการงานที่สามารถกล่าวเรียกได้ในลักษณะหนึ่งว่านั่นเป็นความผิด ทว่ากล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าจุดประสงค์ของความบริสุทธิ์ของพวกท่านคือ การเป็นปรปักษ์กับหน้าที่อันจำเป็นหรือปฏิบัติในสิ่งต้องห้ามที่ฟิกฮฺ (หลักปฏิบัติ) กล่าวไว้

3. ประการที่สาม ข้อคลางแคลงใจมีอยู่ว่า การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) ของอัล-กุรอาน โองการหนึ่งกล่าวว่าบรรดาท่านเหล่านั้นเป็น มุคละซีน (ผู้ที่ถูกทำให้สะอาด) ซึ่งชัยฏอนไม่สามารถหลอกลวงได้ ขณะที่อัล-กุรอานกล่าวถึงการลวงล่อของชัยฏอนที่มีเหนือบรรดาศาสดา เช่นที่กล่าวว่า

يَا بَنِي آدَمَ لاَ يَفْتِنَنَّكُمُ الشَّيْطَانُ كَمَا أَخْرَجَ أَبَوَيْكُم مِّنَ الْجَنَّةِ

โอ้ ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย จงอย่าให้ชัยฏอนหลอกลวงพวกเจ้าเช่นเดียวกับที่มันได้ให้พ่อแม่ของพวกเจ้าออกจากสวนสวรรค์มาแล้ว (อะอฺรอฟ / 27)

ซึ่งโองการกล่าวถึงการถูกหลอกลวงของอาดัมและฮะวา เป็นเหตุทำให้ต้องถูกขับออกจากสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นผลงานของชัยฏอน

บางโองการในบท ซ็อด โองการที่ 41 ซึ่งเป็นคำพูดของศาสดาอัยยูบ (อ.) กล่าวว่า

وَاذْكُرْ عَبْدَنَا أَيُّوبَ إِذْ نَادَى رَبَّهُ أَنِّي مَسَّنِيَ الشَّيْطَانُ بِنُصْبٍ وَعَذَابٍ  

จงรำลึกถึงบ่าวของเรา อัยยูบ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระผู้อภิบาลของเขาว่า แท้จริงชัยฏอนมารร้ายได้ทำให้ฉันได้รับความเหนื่อยยาก และทุกข์ทรมาน

หรือในบทอัล-ฮัจญฺ โองการที่ 52 กล่าวถึงการแทรกแซงประเภทหนึ่งของชัยฏอนที่มีเหนือบรรดาศาสดา โดยกล่าวว่า

وَمَا أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ مِن رَّسُولٍ وَلَا نَبِيٍّ إِلَّا إِذَا تَمَنَّى أَلْقَى الشَّيْطَانُ فِي أُمْنِيَّتِهِ

เรามิได้ส่งเราะซูลหรือนะบีคนใดก่อนหน้าเจ้ามา เว้นแต่ว่ายามเมื่อเขาหวังแล้วชัยฏอนก็จะเข้ามายุแหย่ให้หันเหออกจากความหวังตั้งใจของเขา

คำตอบ จะสังเกตเห็นว่าอัล-กุรอานทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีโองการใดกล่าวพาดพิงว่า ชัยฏอนได้หยุแหย่ อันเป็นสาเหตุทำให้บรรดาศาสดา (อ.) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็น

ส่วนโองการที่ 27 บทอัลอะอฺรอฟ ที่กล่าวว่าเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงการหยุแหย่ของชัยฏอนให้รับประทานผลจากต้นไม้ต้องห้าม หากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่าการห้ามของพระเจ้ามิได้เกี่ยวข้องกับการห้ามมิให้กินจากต้นไม้นั้น  พระองค์เพียงแค่กำชับแก่อาดัมและฮะวาว่า การรับประทานจากต้นไม้นั้นจะเป็นสาเหตุทำให้ออกจากสวรรค์ลงมายังโลก ซึ่งการหยุแหย่ของชัยฏอนเป็นสาเหตุทำให้ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำเตือนในเชิงปฏิเสธไม่ให้กระทำดีกว่า (นะฮีเอรชาด) นอกเหนือจากนั้นสถานที่ดังกล่าวมิใช่สถานที่ปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ประกอบกับขณะนั้นบทบัญญัติ (ชะรีอะฮฺ) ยังมิได้ถูกประทานลงมา

ส่วนโองการที่ 41 บทซ็อด กล่าวถึงความกังวลใจและความทุกข์ทรมานของศาสดาอัยยูบ (อ.) ซึ่งเกิดจากหยุแหย่ของชัยฏอน โองการดังกล่าวมิได้บ่งชี้ถึงการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ของศาสดาอัยยูบ (อ.) ที่มีต่อพระเจ้าแต่อย่างใด

ส่วนโองการที่ 52 บทอัลฮัจญฺ เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกลั่นแกล้งใส่ร้ายของชัยฏอน ที่มีต่อภารกจิการงานของบรรดาศาสดา (อ.) ทุกท่าน และการหยุให้หันเหออกไปจากความหวังตั้งใจของท่านในการชี้นำประชาชน บั้นปลายสุดท้ายพระเจ้าทรงทำลายแผนการและเล่ห์เหลี่ยมของชัยฏอน ทรงทำให้ศาสนาของพระองค์แข็งแรงมั่นคงจวบจนถึงปัจจุบัน

4. ประการที่สี่ ข้อคลางแคลงใจมีอยู่ว่าโองการที่ 112 บทฏอฮา กล่าวถึงการกระทำความผิด

وَمَن يَعْمَلْ مِنَ الصَّالِحَاتِ وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَا يَخَافُ ظُلْمًا وَلَا هَضْمًا  

และผู้ใดปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลายโดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา เขาจะไม่กลัวความอธรรมและการบั่นทอนใด ๆ

 และโองการที่ 115 บทเดียวกัน กล่าวถึงการลืมเลือนของศาสดาอาดัม (อ.)

وَلَقَدْ عَهِدْنَا إِلَى آدَمَ مِن قَبْلُ فَنَسِيَ وَلَمْ نَجِدْ لَهُ عَزْمًا  

แน่นอน เราได้ให้คำมั่นสัญญาแก่อาดัมแต่กาลก่อนแล้วแต่เขาได้ลืม และเราไม่พบความมั่นใจอดทนในตัวเขา

ดังนั้น ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมาจะเข้ากันได้อย่างไรกับความบริสุทธิ์ของท่านศาสดา

คำตอบ ข้อคลางแคลงดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วตามข้อมูลที่กล่าวผ่านมากล่าวคือ การกระทำความผิดและความหลงลืมของศาสดาอาดัม (อ.) ไม่เกี่ยข้องกับหน้าที่จำเป็นแต่อย่างใด

5. ประการที่ห้า ข้อคลางแคลงใจมีอยู่ว่า อัล-กุรอาน กล่าวถึงการมุสาของศาสดาบางท่าน เช่น โองการที่ 89 บทอัซซอฟาต เป็นคำพูดของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) กล่าวว่า

فَقَال اِنِّي سَقِيْم ..

แล้วเขาก็กล่าวขึ้นว่า “แท้จริงฉันไม่สบายจริง ๆ” ขณะที่ท่านศาสดามิได้เป็นอะไร

หรือในบทอัล-อันบิยาอฺ โองการที่ 63 เป็นคำพูดของท่านศาสดาอิบรอฮีม ที่กล่าวว่า

قَالَ بَلْ فَعَلَهُ كَبِيرُهُمْ هَذَا

เขากล่าวว่า “ทว่าพระเจ้าตัวใหญ่ของพวกนี้ต่างหากเป็นผู้กระทำ”

อัล-กุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 70 กล่าวว่า

فَلَمَّا جَهَّزَهُم بِجَهَازِهِمْ جَعَلَ السِّقَايَةَ فِي رَحْلِ أَخِيهِ ثُمَّ أَذَّنَ مُؤَذِّنٌ أَيَّتُهَا الْعِيرُ إِنَّكُمْ لَسَارِقُونَ  

เมื่อ (เจ้าหน้าที่ของยูซุฟ) ได้จัดเตรียมเสบียงอาหารให้แก่พวกเขาแล้ว เขาได้ใส่ขันน้ำดื่มของกษัตริย์ลงในย่ามของน้องชายเขา หลังจากนั้นคนหนึ่งได้ร้องตะโกนว่า โอ้ คณะเดินทางเอ๋ย แท้จริงพวกเจ้าเป็นพวกขโมย

คำตอบ คำพูดเหล่านี้เมื่อพิจารณาดูที่บางรายงานแล้วจะพบว่าเป็นคำพูดผ่อนผันที่ต้องการเลี่ยงบางสิ่งบางอย่าง ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วต้องการความหมายอื่น เนื่องจากยังมีสิ่งที่จำเป็นมากกว่านั้น ดังจะสังเกตเห็นว่าบางโองการนั้นเป็นอิลฮาม (ดลใจ) ของพระเจ้าด้วยซ้ำไป ดังเช่นเรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) ที่กล่าวว่า

كَذَلِكَ كِدْنَا لِيُوسُفَ

 เช่นนั้นแหละเราได้สอนกลอุบายแก่ยูซุฟ (ยูซุฟ / 76)

อย่างไรก็ตามจะพบกว่าการมุสาทำนองนั้นไม่เป็นความผิดและไม่ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของศาสดา

6. ประการที่หก ข้อคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องราวของศาสดามูซา (อ.) กล่าวว่าท่านได้ทะเลาะวิวาทกับชายคนหนึ่งนามว่า กุบฏีย์ ซึ่งเป็นชาวบนีอิสรออีลสุดท้ายท่านได้สังหารชายชาวนั้นเสียชีวิต ด้วยสาเหตุนั้นเองท่านจึงหนีออกจากอียิปต์ ต่อมาเมื่อพระเจ้าทรงมีพระบัญชาให้ท่านไปเชิญชวนฟิรเอานฺ ท่านกล่าว่า

وَلَهُمْ عَلَيَّ ذَنبٌ فَأَخَافُ أَن يَقْتُلُونِ  

 พวกเขา (ตามความเชื่อของพวกเขา) มีข้อกล่าวหาต่อฉัน ดังนั้น ฉันกลัวว่าพวกเขาจะสังหารฉัน (ไม่สามารถประกาศสาส์นให้จบสมบูรณ์ได้) (ชุอฺอะรออฺ โองการที่ 14)

เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องราวดังกล่าว ท่านได้ตอบฟิรเอานฺว่า

قَالَ فَعَلْتُهَا إِذًا وَأَنَا مِنَ الضَّالِّينَ  

 เขา (มูซา) กล่าวว่า ฉันได้กระทำมันโดยที่ฉันไม่รู้ตัว (ชุอฺอะรออฺ โองการที่ 20)

เรื่องราวทำนองนี้จะเหมาะสมกับความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาได้อย่างไร แม้ว่าท่านจะกระทำสิ่งนั้นก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาก็ตาม

คำตอบ ประการแรกการสังหาร กุบฏีย์ มิได้กระทำลงไปโดยตั้งใจหรือมีเจตนาสังหารเขาแต่อย่างใด ทว่าหมัดของมูซาหนักเกินเหตุ ทั้งที่มูซา (อ.) ก็มิได้คาดคิดมาก่อนว่าหมัดจะหนักเพียงนั้น

ประการที่สอง ประโยคที่อัล-กุรอานกล่าวว่า พวกเขามีข้อกล่าวหาต่อฉัน เป็นคำพูดตามความคิดเห็นของพวกฟิรเอานฺหมายถึง พวกเขาคิดว่าฉันเป็นผู้สังหารและกระทำความผิด ฉันจึงเกรงว่าพวกเขาจะจับกุมฉันไปลงโทษ

ประการที่สาม ประโยคที่อัล-กุรอานกล่าวว่า  ฉันได้กระทำมันโดยที่ฉันไม่รู้ตัว เป็นคำพูดที่ต่อรองกับฟิรเอานฺ เป็นการบ่งบอกว่าตนก็งงไปหมดในเวลานั้น แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงชี้นำทางฉันและทรงส่งฉันมายังเจ้าด้วยเหตุผลอันชัดแจ้ง หรืออาจเป็นไปได้ว่าจุดประสงค์ของคำว่า ฉันไม่รู้ตัว หมายถึงฉันไม่รู้ว่าบั้นปลายของการนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกรณีใดโองการไม่ได้บ่งชี้ให้เห็นว่าศาสดามูซา (อ.) ปฏิบัติขัดแย้งกับหน้าทีจำเป็นที่พระเจ้าทรงประทานลงมา

7. ประการที่เจ็ด ข้อคลางแคลงใจในบทยูนุซ โองการที่ 94 ซึ่งอัล-กุรอานกล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า

فَإِن كُنتَ فِي شَكٍّ مِّمَّا أَنزَلْنَا إِلَيْكَ فَاسْأَلِ الَّذِينَ يَقْرَؤُونَ الْكِتَابَ مِن قَبْلِكَ لَقَدْ جَاءَكَ الْحَقُّ مِن رَّبِّكَ فَلاَ تَكُونَنَّ مِنَ الْمُمْتَرِينَ  

หากเจ้าสงสัยในสิ่งที่เราได้ประทานแก่เจ้า เจ้าจงถามบรรดาผู้อ่านคัมภีร์แห่งฟากฟ้าก่อนหน้าเจ้า แน่นอน สัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของเจ้าได้มายังเจ้าแล้ว ดังนั้น เจ้าจงอย่าเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้สงสัย (ยูนุส / 94)

หรือในบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 147, บทอาลิอิมรอน โองการที่ 60, บทอัล-อันอาม โองการที่ 114  กล่าวว่า สัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของเจ้าได้มายังเจ้าแล้ว ดังนั้น เจ้าจงอย่าเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้สงสัย

فَلاَ تَكُ فِي مِرْيَةٍ مِّنْهُ إِنَّهُ الْحَقُّ مِن رَّبِّكَ وَلَكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لاَ يُؤْمِنُونَ  

ดังนั้น เจ้าอย่าได้สงสัยต่อสิ่งนั้นเลย แท้จริง สิ่งนั้นเป็นสัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของเจ้า แต่ทว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ศรัทธา (ฮูด / 17)

وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوسَى الْكِتَابَ فَلَا تَكُن فِي مِرْيَةٍ مِّن لِّقَائِهِ وَجَعَلْنَاهُ هُدًى لِّبَنِي إِسْرَائِيلَ 

แน่นอน เราได้ประทานคัมภีร์แก่มูซา ดังนั้น เจ้าอย่าได้สงสัยเลยว่าเขาได้รับวะฮฺยูของพระเจ้า และเราได้ทำให้คัมภีร์เป็นนั้นเป็นสื่อในการชี้นำแก่วงศ์วานอิสรออีล (บทอัซซัจญฺดะฮฺ / 23)

โองการทั้งหมดที่กล่าวมา กล่าวห้ามท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ไม่ให้เคลือบแคลงสงสัย ฉะนั้น กล่าวได้อย่างไรว่าความเข้าใจและการได้รับวะฮฺยูไม่อาจสงสัยได้ ทั้งที่ศาสดาเองก็สงสัย

คำตอบ ความเคลือบแคลงสงสัยในโองการเหล่านี้มิได้บ่งบอกให้เห็นว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สงสัย ในสัจธรรมของโองการ ทว่าโองการกำชับว่าอย่าได้สงสัยในตำแหน่งของการอธิบายเนื้อหาสาระ หรือสาส์นของท่านศาสดาตลอดจนสัจธรรมของอัล-กุรอาน ซึ่งในความเป็นจริงการที่อัล-กุรอานกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวในเชิงของการเปรียบเปรยดังเช่นที่กล่าวว่า พูดกับประตูเพื่อให้หน้าต่างได้ยิน หรือตีวัวกระทบคาด

8. ประการที่แปด ข้อคลางแคลงใจในอัล-กุรอานที่กล่าวถึงบาปกรรม โดยอ้างว่าเป็นบาปของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  ต่อมาอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงอภัยในบาปกรรมเหล่านั้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า

لِيَغْفِرَ لَكَ اللَّهُ مَا تَقَدَّمَ مِن ذَنبِكَ وَمَا تَأَخَّرَ

เพื่ออัลลอฮจะได้ทรงอภัยโทษความผิดที่พาดพิงถึงเจ้าทั้งที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า (อัลฟัตฮฺ)

คำตอบ จุดประสงค์ของคำว่า ซันบุน ในโองการหมายถึง ความผิดหรือบาปกรรม ที่บรรดาผู้ปฏิเสธได้กล่าวพาดพิงถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งก่อนหน้าการอพยพและหลังจากนั้น เนื่องจากพวกเขาคิดว่าท่านศาสดาดูถูกบรรดารูปปั้นที่พวกเขาเคารพบูชา

ส่วนจุดประสงค์ของการอภัยในโองการหมายถึง การขจัดผลต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำนั้น ซึ่งพบได้จากคำอธิบายที่ว่า การพิชิตมักกะฮฺเป็นสาเหตุของการอภัยความผิด ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า แท้จริงเราได้ให้ชัยชนะแก่เจ้าซึ่งเป็นชัยชนะอย่างชัดแจ้ง เพื่ออัลลอฮจะได้ทรงอภัยโทษความผิดที่พาดพิงถึงเจ้า เป็นที่แน่ชัดว่าถ้าจุดประสงค์ของคำว่า ซันบุน หมายถึงความผิดหรือบาปกรรมตามพจนากรมแล้วละก็ โองการจะไม่กล่าวว่าจะอภัยในความผิดนั้นถ้าหากพิชิตมักกะฮฺได้

9. ประการที่เก้า ข้อคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กับภรรยาของซัยดฺ (บุตรบุญธรรมของท่านศาสดา) ที่หย่าร้างกันแล้ว โองการกล่าวว่า

وَتَخْشَى النَّاسَ وَاللَّهُ أَحَقُّ أَن تَخْشَاهُ

เจ้ากลัวเกรงมนุษย์ ขณะที่อัลลอฮฺทรงสมควรยิ่งกว่าที่เจ้าจะต้องเกรงกลัว (บทอัลอะฮฺซาบ / 37)

ตามคำกล่าวของอัล-กุรอาน จะเห็นว่าสิ่งนี้เข้ากันได้อย่างไรกับตำแหน่งการเป็นผู้บริสุทธิ์ของศาสดา

คำตอบ เนื่องจากความศรัทธาอันอ่อนแอของประชาชน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) จึงวิตกกังวลอยู่ในใจว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจในคำสั่งของพระเจ้า ที่ทรงสั่งให้ทำลายหนึ่งในประเพณีผิด ๆ ของพวกเขา (พวกเขาถือว่าบุตรจริงกับบุตรบุญธรรมเหมือนกัน) ท่านจึงเกรงว่าพวกเขาจะเข้าใจผิดว่าท่านแต่งงานกับภรรยาเก่าของซัยดฺ เนื่องจากตัณหาราคะอันจะเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาตกศาสนา อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงประทานโองการดังกล่าวลงมาเพื่อชี้แจงเจตนารมณ์ของพระองค์ให้ทราบว่า การทำลายจารีตประเพณีผิด ๆ ดังกล่าวนั้น มีความเหมาะสมและสำคัญยิ่งกว่าความกริ่งเกรงว่าพวกเขาจะเข้าใจผิด อันเป็นประสงค์ของพระเจ้าบนพื้นฐานการต่อสู้ของท่านศาสดา ฉะนั้น โองการดังกล่าวจึงมิได้ตำหนิฐานะภาพของท่านศาสดาแม้แต่นิดเดียว

10. ประการที่สิบ ความคลางแคลงใจในอัล-กุรอาน เกี่ยวกับการละเว้นการงานบางอย่างของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เช่น ท่านศาสดาอนุญาตให้บางคนไม่ต้องเข้าร่วมสงคราม อัล-กุรอานกล่าวว่า

عَفَا اللّهُ عَنكَ لِمَ أَذِنتَ لَهُمْ

อัลลอฮฺ ทรงอภัยโทษให้แก่เจ้าเนื่องจากเจ้าอนุมัติให้แก่พวกเขา (อัตเตาบะฮฺ / 43)

หรือในบางกรณีที่ท่านสั่งห้ามภารกิจอันเป็นที่อนุมัติบางประการ เพื่อรักษาน้ำใจและความพอใจของภรรยาบางคน อัล-กุรอานกล่าวว่า

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ لِمَ تُحَرِّمُ مَا أَحَلَّ اللَّهُ لَكَ تَبْتَغِي مَرْضَاتَ أَزْوَاجِكَ

โอ้ นะบีเอ๋ย ทำไมเจ้าจึงห้ามสิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติแก่เจ้า เพื่อสร้างความพึงพอใจให้บรรดาภริยาของเจ้า    (อัตตะฮฺรีม / 1)

คำตอบ การกล่าวทำนองนี้ตามความเป็นจริงแล้วเป็นการสรรเสริญในเชิงของการเป็นห่วงเป็นใย บ่งบอกให้เห็นถึงความเมตตาขั้นสูงสุดและความเป็นห่วงเป็นใยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่มีต่อทุกคน ซึ่งแม้แต่บรรดาผู้กลับกลอกหรือบุคคลที่จิตใจเป็นโรคก็จะไม่สิ้นหวัง ท่านศาสดาได้รักษาน้ำใจและถือเอาความพอใจของภรรยาบางคนต้องมาก่อนความต้องการของท่าน หรือทำกิจการงานบางอย่างที่อนุมัติให้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยการสาบานกับตัวเอง (สิ่งเหล่านั้นเกิดจากจิตที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตาของท่าน) มิใช่ว่าท่านต้องการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของพระเจ้า หรือทำสิ่งอนุมัติให้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับประชาชน

ตามความเป็นจริงแล้วโองการดังกล่าวมีความละม้ายคล้ายเหมือนกับบางโองการ ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้พยายามและแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในการที่จะชี้นำเหล่าผู้ปฏิเสธ ดังเช่นโองการที่กล่าวว่า

لَعَلَّكَ بَاخِعٌ نَّفْسَكَ أَلَّا يَكُونُوا مُؤْمِنِينَ  

บางทีเจ้า (มุฮัมมัด) เป็นผู้ทำลายชีวิตของเจ้า เพราะพวกเขาไม่ศรัทธา (บทอัชชุอะรออฺ / 3)

หรือบางโองการที่บ่งชี้ถึงความอดทนอย่างมากมาย ในหนทางของการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้าดังโองการที่กล่าวว่า

طه مَا أَنزَلْنَا عَلَيْكَ الْقُرْآنَ لِتَشْقَى  

ฏอฮา  เรามิได้ประทานอัล-กุรอานลงมาแก่เจ้า เพื่อให้เจ้าลำบาก (ฏอฮา / 2)

อย่างไรก็ตามโองการเหล่านี้มิได้ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของท่านศาสดาแต่อย่างใด

คำถาม

1. บุคคลที่เป็นมะอฺซูมมีความพิเศษหรือมีเจตนารมณ์เสรีอันใดเหนือบุคคลคนอื่น และภารกิจที่กล่าวอ้างว่าเป็นความบริสุทธิ์จากพระเจ้าจะมีสิทธิ์ได้รับผลรางวัลอย่างไร

2. เพราะเหตุใดบรรดาศาสดาหรือเหล่าหมู่มวลมิตรของพระเจ้า จึงยอมรับว่าตนกระทำความผิดและขอลุแก่โทษด้วยความนอบน้อม

3. การแทรกแซงของชัยฏอนต่อภารกิจการงานของศาสดา จะเข้ากันได้อย่างไรกับความบริสุทธิ์

4. การกระทำความผิดและการหลงลืมที่อัล-กุรอานกล่าวพาดพิงถึงศาสดาอาดัม (อ.) เข้ากันได้อย่างไรกับฐานะภาพความบริสุทธิ์ของท่าน

5. ถ้าบรรดาศาสดาทั้งหมดเป็นมะอฺซูม แล้วเพราะสาเหตุอันใดท่านศาสดาอิบรอฮีมและศาสดายูซุฟจึงโกหก

6. การกล่าวพาดพิงความผิดไปยังศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ดังที่กล่าวในบทอัลฟัตฮฺ เข้ากับความบริสุทธิ์ของท่านได้อย่างไร

7. จงอธิบายความคลางแคลงเกี่ยวกับเรื่องราวของซัยดฺพร้อมคำตอบ