บทที่ 25 : เหตุผลแห่งความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

-    บทนำ
-    เหตุผลทางสติปัญญาที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

-    เหตุผลทางจารีตที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

-    ความเร้นลับแห่งความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

บทนำ

การเชื่อว่าบรรดาศาสดาทั้งหลายปราศจากบาปและความผิดต่าง ๆ ทั้งที่เกิดโดยเจตนาและการหลงลืม เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาแน่นอนของชีอะฮฺ ซึ่งบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ของชีอะฮฺได้สั่งสอนความเชื่อเหล่านี้แก่พวกเขา ท่านได้อธิบายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บรรดาชีอะฮฺพึงระมัดระวังต่อพวกที่เป็นปรปักษ์ ซึ่งหนึ่งในข้อพึงระวังที่มีชื่อเสียงที่สุดของบรรดาอิมามคือ ข้อพึงระวังของท่านอิมามริฎอ (อ.) มีบันทึกอยู่ในตำรับตำราฮะดีซและประวัติศาสตร์

แต่การปฏิเสธการหลงลืมของบรรดาศาสดาในภารกิจที่เป็นมุบาฮฺ (กระทำกับไม่กระทำมีค่าเท่ากัน) หรือภารกิจทั่วไปยังเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่ไม่มากก็น้อย ประกอบกับการพิจารณาภายนอกจากรายงานที่มาบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ซึ่งการพิจารณาบรรดารายงานเหล่านั้นต้องใช้เวลามากมายพอประมาณ แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นหนึ่งในความเชื่อที่จำเป็น

แต่เหตุผลต่าง ๆ ที่ยืนยันว่าบรรดาศาสดา (อ.) นั้นสะอาดบริสุทธิ์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือกลุ่มแรก เป็นเหตุผลทางสติปัญญา ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นเหตุผลตามการรายงาน (อัลกุรอานและซุนนะฮฺ) แม้ว่าส่วนใหญ่จะยึดถือและเชื่อเหตุผลตามรายงานที่ถูกบันทึกไว้ก็ตาม แต่ในตำราเล่มนี้จะกล่าวถึงทั้งสองเหตุผลโดยจะกล่าวเน้นที่เหตุผลทางสติปัญญาเป็นหลัก หลังจากนั้นจะกล่าวถึงเหตุผลตามการรายงานของอัล-กุรอาน

เหตุผลทางสติปัญญาที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

ประการแรก เหตุผลของสติปัญญาที่บ่งบอกว่าบรรดาศาสดา (อ.) ต้องสะอาดบริสุทธิ์จากการกระทำบาปและความผิดต่าง ๆ คือ เป้าหมายอันแท้จริงของการแต่งตั้งบรรดาศาสดาก็เพื่อชี้นำประชาชาติไปสู่สัจธรรมความจริง และไปสู่หน้าที่ ๆ พระเจ้าทรงกำหนดแก่พวกเขาเหล่านั้น ตามความเป็นจริงแล้วบรรดาศาสดาคือตัวแทนของพระเจ้าในหมู่มนุษย์บนหน้าแผ่นดิน ซึ่งต้องชี้นำมวลมนุษย์ไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ถ้าสมมุติว่าบรรดาตัวแทนและทูตของพระเจ้าไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามตำสั่งของพระเจ้า และพวกเขายังฝ่าฝืนหรือปฏิบัติสิ่งที่ขัดแย้งกับสาส์นของพระองค์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นการกระทำและคำพูดที่ไม่ตรงกันของบรรดาศาสดา แน่นอน พวกเขาจะไม่เชื่อฟังและไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสอนของบรรดาศาสดาอีกต่อไป ในที่สุดแล้วถือว่าเป้าหมายของการแต่งตั้งศาสดามาเพื่อสั่งสอนไม่บรรลุผลและไม่ประสบความสำเร็จสมบูรณ์ ดังนั้น วิทยปัญญาและความการุณย์ของพระเจ้าจึงกำหนดว่าบรรดาศาสดาต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จากบาปกรรมและความผิด หรือแม้แต่การกระทำที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายที่เกิดจากความพลั้งเผลอและความหลงลืม เพื่อว่าประชาชนจะได้ไม่คิดว่าการหลงลืมเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำความผิด

ประการที่สอง  เหตุผลของสติปัญญาที่บ่งบอกว่าบรรดาศาสดา (อ.) ต้องสะอาดบริสุทธิ์จากการกระทำบาปและความผิดต่าง ๆ คือ บรรดาศาสดาจะมีหน้าที่ในการประกาศวะฮฺยูและสาส์นของพระเจ้าแก่ประชาชาติแล้ว ยังต้องแสดงแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาด้วย ทำนองเดียวกันท่านยังมีหน้าที่ให้การอบรมสั่งสอนและปรับปรุงสังคม อีกทั้งต้องขัดเกลาจิตวิญญาณของประชาชน ส่วนบุคคลที่มีความสามารถรับรู้ได้ท่านยังต้องนำพาพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าบรรดาศาสดานอกจากจะมีหน้าที่สั่งสอนและชี้นำประชาชาติแล้ว ท่านยังต้องรับผิดชอบด้านการอบรมและการเป็นผู้นำ หน้าทีทั้งสองจึงเป็นตัวกำหนดว่าท่านต้องเป็นบุคคลที่ดีทีสุด และมีความสามารถมากที่สุดของสังคม ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้จะเหมาะสมกับบุคคลที่เป็นมนุษย์ผู้มีความสมบูรณ์และมีการยกระดับจิตใจในขั้นสูงสุดเท่านั้น

นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว สำหรับบุคคลที่มีหน้าที่อบรมสั่งสอนคนอื่น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับเขาคือการมีความประพฤติที่สูงส่ง เพราะบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมหรือมีความบกพร่อง คำพูดของเขาจะไม่ส่งผลและไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น เมื่อเป้าหมายของพระเจ้าในการแต่งตั้งบรรดาศาสดาเพื่อเป็นผู้อบรมสั่งสอนสังคม และเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จสมบูรณ์ บรรดาศาสดาจึงต้องปราศจากความไร้สาระ บาป และความผิดทั้งมวลทั้งจากคำพูดการปฏิบัติ

เหตุผลทางจารีตที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

1. อัล-กุรอาน กล่าวถึงชนบางกลุ่มว่าเป็น มุคลัช (หมายถึงบุคคลที่ถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์) ซึ่งคำว่า มุคลัซ กับคำว่ามุคลิซ มีความแตกต่างกัน คำว่ามุคลัซ หมายถึงบุคคลที่อัลลอฮฺทรงทำให้เขาบริสุทธิ์ ส่วนคำว่ามุคลิซ หมายถึงบุคคลที่กระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ดังนั้น ชนที่เป็นมุคลัซ จึงเป็นกลุ่มชนที่แม้แต่ชัยฏอนมารร้ายก็ไม่อาจลวงล่อให้เขาหลงทางได้ แม้ว่าชัยฏอนจะสาบานต่อพระเจ้าว่าจะทำให้ลูกหลานของอาดัม (อ.) ทั้งหมดหลงทางยกเว้นกลุ่มชนที่เป็นมุคลัซ ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า

قَالَ فَبِعِزَّتِكَ لَأُغْوِيَنَّهُمْ أَجْمَعِينَ  إِلَّا عِبَادَكَ مِنْهُمُ الْمُخْلَصِينَ  

ชัยฏอนกล่าวว่า ข้าฯขอสาบานด้วยพระอำนาจของพระองค์ว่า ข้าพระองค์จะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิดอย่างแน่นอน เว้นแต่ปวงบ่าวของพระองค์ผู้บริสุทธิ์ในหมู่พวกเขา (บทซ็อดฺ / 82,83)

มิต้องสงสัยเลยว่าการที่ชัยฏอนไม่อาจทำการลวงล่อให้พวกเขาหลงทางได้ เนื่องจากความบริสุทธิ์จากความหลงผิดและความโสมมทั้งหลายนั่นเอง มิเช่นนั้นแล้วศัตรูก็จะไม่ละเว้นพวกเขาเด็ดขาด แม้ว่าจะมีช่องว่างเพียงเล็กน้อยหรือมีความเป็นไปได้เพียงนิดเดียวศัตรูจะวางเว้นเขาเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ คำว่ามุคลัซ จึงเท่าเทียมกับคำว่า มะอฺซูม แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลระบุเฉพาะเจาะจงว่าคุณสมบัติดังกล่าวเป็นของบรรดาศาสดาก็ตาม แต่ไม่ความคลางแคลงใจแต่อย่างใดว่าคุณสมบัติดังกล่าวหมายรวมถึงบรรดาท่านเหล่านั้นด้วย ดังที่อัล-กุรอานได้นับจำนวนศาสดาที่เป็นมุคละซีนไว้ในบทซ็อดฺ โองการที่ 45 และ 46 ว่า

وَاذْكُرْ عِبَادَنَا إبْرَاهِيمَ وَإِسْحَقَ وَيَعْقُوبَ أُوْلِي الْأَيْدِي وَالْأَبْصَارِ إِنَّا أَخْلَصْنَاهُم بِخَالِصَةٍ ذِكْرَى الدَّارِ 

จงรำลึกถึงปวงบ่าวของเรา อิบรอฮีม อิสหาก และยะอฺกูบ ผู้เข้มแข็งและสายตายาวไกล เราได้ทำให้พวกเขาบริสุทธิ์โดยความบริสุทธิ์อันเฉพาะเพื่อเตือนให้รำลึกถึงปรโลก

وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ مُوسَى إِنَّهُ كَانَ مُخْلَصًا وَكَانَ رَسُولًا نَّبِيًّا  

จงรำลึกถึงเรื่องราวของมูซาที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเราะซูลและเป็นนะบี (บทมัรยัม / 51)

แน่นอน สาเหตุแห่งความบริสุทธิ์ของศาสดายูซุฟ (อ.) บนเงื่อนไขที่ยากลำบากที่สุดคือ ความบริสุทธิ์ (มุคลัซ) ของท่านนั่นเอง อัล-กุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 24 กล่าวว่า

كَذَلِكَ لِنَصْرِفَ عَنْهُ السُّوءَ وَالْفَحْشَاءَ إِنَّهُ مِنْ عِبَادِنَا الْمُخْلَصِينَ  

เราได้ทำเช่นนั้น เพื่อเราจะให้ความเลวทรามและความชั่วห่างไกลจากเขา เนื่องจากเขาเป็นบ่าวผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งในปวงบ่าวของเรา

2. อัล-กุรอาน สั่งให้เชื่อฟังปฏิบัติตามศาสดาอย่างแท้จริง (โดยไม่มีความคลางแคลงใจ) เช่น บทนิซาอฺ โองการที 64 กล่าวว่า

وَمَا أَرْسَلْنَا مِن رَّسُولٍ إِلاَّ لِيُطَاعَ بِإِذْنِ اللّهِ

และเรามิได้ส่งเราะซูลคนใดมานอกจากเพื่อให้เขาได้รับการเชื่อฟังปฏิบัติตามอย่างแท้จริง โดยอนุมัติของอัลลอฮฺ

การเชื่อฟังปฏิบัติตามท่านเราะซูลอย่างแท้จริง จะถือว่าถูกต้องก็ต่อเมื่อการปฏิบัติตามนั้นถือเป็นการปฏิบัติตามอัลลอฮฺ ซึ่งการเชื่อฟังปฏิบัติตามเราะซูลต้องไม่ขัดแย้งกับการเคารพภักดีต่อพระเจ้า มิเช่นนั้นคำสั่งให้เชื่อฟังปฏิบัติตามโดยสุทธิจากพระเจ้า กับการปฏิบัติตามโดยสุทธิต่อบุคคลที่มีความผิดหรือหลงทาง เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกัน

3. อัล-กุรอาน กล่าวถึงการแต่งตั้งของพระเจ้านั้นเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคคลที่ไม่กดขี่ผู้อื่น ดังนั้น คำตอบของพระองค์ที่ให้แก่ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ขณะที่ท่านศาสดาวอนขอให้พระองค์แต่งตั้งลูกหลานของท่านให้เป็นอิมามว่า

وَمِن ذُرِّيَّتِي قَالَ لاَ يَنَالُ عَهْدِي الظَّالِمِينَ

 รวมลูกหลานของข้าพระองค์ด้วยหรือไม่ พระองค์ตรัสว่าสัญญาของข้าจะไม่ครอบคลุมบรรดาผู้อธรรม (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ / 124)

เป็นที่ประจักษ์ว่าทุก ๆ ความผิดนั้นเกิดจากการกดขี่ตนเอง ดังนั้น ทุกคนที่กระทำความผิดอัล-กุรอานจึงเรียกว่า ซอลิม (ผู้กดขี่) ด้วยเหตุนี้ บรรดาศาสดาทั้งหลายคือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺให้เป็นนบีหรือเราะซูล จำเป็นต้องบริสุทธิ์จากการกดขี่ทุกประเภทและความผิดทั้งหลาย

ยังมีโองการและรายงานอีกมากมายที่สามารถใช้เป็นบทพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาได้ แต่จะยังไม่กล่าว ณ ที่นี้เนื่องจากไม่เหมาะสมกับหนังสือเล่มดังกล่าว

ความเร้นลับแห่งความบริสุทธิ์ของศาสดา

-    ในตอนท้ายของบทนี้เหมาะสมยิ่งหากจะกล่าวถึง ความเร้นลับแห่งความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) ทว่าความเร้นลับในความบริสุทธิ์ของท่านอยู่ที่การรับวะฮฺยู ซึ่งพื้นฐานของการรับรู้วะฮฺยูมิได้มาจากหน่วยการรับรู้ที่ผิดพลาด ส่วนบุคคลที่สามารถรับวะฮฺยูจะได้แก่นแท้ของวิชาการ ซึ่งสิ่งนั้นเป็นความรู้ประจักษ์ เขาสามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้ให้วะฮฺยู ซึ่งบางครั้งอาจมีมะลักญิบรออีลเป็นสื่อกลางหรือไม่มี อัล-กุรอาน บทอันนัจญฺมุ โองการที่ 11 กล่าวว่า

مَا كَذَبَ الْفُؤَادُ مَا رَأَى 

         จิตใจ (ของมุฮัมมัด) มิได้ปฏิเสธสิ่งที่เขาได้เห็น

         ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับวะฮฺยูจะเคลือบแคลงสงสัยว่าตนได้รับวะฮฺยูหรือไม่ หรือสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้มอบวะฮฺยูแก่ตน วะฮฺยูมีมาตฐานอย่างไร ดังนั้น จึงมีเรื่องมุสาขึ้นว่าศาสดาสงสัยความเป็นศาสดาของตน หรือศาสดาไม่เคยได้รับวะฮฺยู หรือไม่รู้จักผู้ประทานวะฮฺยูถือว่าเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น

         ส่วนคำอธิบายเกี่ยวกับความเร้นลับของศาสดาในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการประกาศสาส์นและคัมภีร์ของพระเจ้าแก่ประชาชาติ ต้องอาศัยบทนำพิเศษกล่าวคือ

ภารกิจที่อยู่ในเจตนารมณ์เสรีของมนุษย์สามารถกระทำได้ดังนี้คือ ต้องเกิดอารมณ์จากด้านในเมื่อสัมพันธ์ไปยังสิ่งที่ต้องการจะปฏิบัติ ส่วนผลของงานนั้นจะมีปัจจัยหลายประการปรากฏขึ้น บุคคลหนึ่งสามารถจำแนกเป้าหมายอันเป็นที่ยอมรับได้ ด้วยการช่วยเหลือของวิชาการและการรับรู้อันหลากหลาย เพื่อไปถึงยังเป้าหมายดังกล่าว และเขาตัดสินใจกระทำงานทีมีความเหมาะสมนั้น ในกรณีที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งและมีการรบกวนภายนอกเกิดขึ้น เขาจะพยายามแบ่งแยกสิ่งที่มีค่าที่สุดและเลือกกระทำสิ่งนั้น แต่ในบางครั้งผลที่เกิดขึ้นไม่ค่อยเป็นที่รับรู้เท่าใดนัก การประเมินผลและการแบ่งแยกให้ดีที่สุดเกิดความผิดพลาด หรือหลงลืมคำสั่งที่ดีกว่า หรือเคยชินกับคำสั่งในทางที่ไม่ดีอันเป็นสาเหตุทำให้ต้องเลือกกระทำสิ่งที่ไม่ดี และไม่มีเวลาพอที่จะคิดให้ถูกต้องและเลือกกระทำสิ่งถูกที่ควร

ดังนั้น หากมนุษย์รู้จักสัจธรรมความจริงดีเป็นพิเศษ ความเข้าใจและการใส่ใจต่อสิ่งนั้นก็จะยิ่งมีมากขึ้น เช่นกันหากความประสงค์มีความแข็งแรงเป็นพิเศษต่อการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและอำนาจภายใน การเลือกสรรที่ดีก็จะมีมากไปตามลำดับ ขณะเดียวกันจะมีความปลอดภัยจากการหันเหและการหลงผิด

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าบุคคลที่มีความสามารถหรือมีความรู้และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลคือ บุคคลที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้อง และได้รับความสมบูรณ์และความประเสริฐในขั้นต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งเกือบจะไปถึงพรมแดนของความบริสุทธิ์ เวลานั้นแม้แต่การจินตนาการที่เป็นบาป และภารกิจที่ไม่ดีเขาก็จะไม่เก็บมาคิดหรือสร้างขึ้นมาเองในความคิดของเขา เนื่องจากไม่มีผู้มีสติปัญญาคนใดคิดที่จะดื่มยาพิษ หรือคิดฆ่าตัวตาย หรือกินสิ่งมีพิษทั้งหลาย

ถ้าหากเราตั้งสมมุติฐานขึ้นเองว่า มีชายคนหนึ่งเขาพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อรู้จักสัจธรรมความจริงในขั้นสูงสุด และมีจิตวิญญาณที่สงบมั่นเรียบง่าย ดังที่อัล-กุรอานกล่าวเปรียบเปรยว่า ประหนึ่งน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ชนิดดีย่อมพร้อมที่จะติดไฟเสมอ คล้ายกับว่าตัวของมันจะติดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยไฟแต่อย่างใด เนื่องจากความสามารถที่แข็งแรง และการมีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ภายใต้การอบรมของพระเจ้าโดยได้รับการสนับสนุนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ บุคคลเช่นนี้จะพัฒนาไปสู่ขั้นสมบูรณ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว เขาสามารถลดกาลเวลาเดินทางที่ยาวนานถึง 100 ปี ให้เหลือภายใน 1 คืนได้ มิใช่ในวัยเด็กเท่านั้นที่ดีกว่าเด็กคนอื่น ๆ ทว่าแม้ขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์ของมารดาก็ดีกว่าคนอื่นแล้ว สำหรับบุคคลประเภทนี้ความดีและความชั่วของบาปกรรมทั้งหมดเป็นที่ประจักษ์สำหรับเขา ประหนึ่งการดื่มยาพิษเป็นอันตรายต่อตนเองและความน่าเกลียดของสรรพสิ่งเป็นอันตรายต่อสรรพสิ่งอื่น อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าการหลีกเลี่ยงภารกิจเหล่านี้สำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไป มิได้เป็นการบีบบังคับให้กระทำ การหลีกเลี่ยงความผิดของบรรดามะอฺซูม (ผู้สะอาดบริสุทธิ์จากบาป) ก็มิได้ขัดแย้งกับเจตนารมณ์เสรีของท่านแต่อย่างใด

คำถาม

1. จงพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาด้วยเหตุผลของสติปัญญา

2. มีอัล-กุรอานโองการใดบ้างที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.)

3. ตวามเร้นลับของบรรดาศาสดาจากความผิดพลาดในการรับวะฮฺยูคืออะไร

4. ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาจากความผิดเข้ากับเจตนารมณ์เสรีได้อย่างไร