') //-->
- วะฮฺยู (วิวรณ์) จำเป็นต้องบริสุทธิ์
- ความบริสุทธิ์ในประเด็นอื่น
- ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา
วะฮฺยู (วิวรณ์) จำเป็นต้องบริสุทธิ์
หลังจากยอมรับแล้วว่าวะฮฺยูเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการรู้จักที่จำเป็น ประกอบกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความรู้สึก และสติปัญญาของมนุษย์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้น ปัญหาอื่นที่จำเป็นต้องนำเสนอในที่นี้กล่าวคือ
ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากวะฮฺยูโดยตรงได้ อีกทั้งมนุษย์ยังมีความสามารถและมีคุณสมบัติไม่เพียงพอต่อการรับวะฮฺยูของพระเจ้า อัล-กุรอาน กล่าวว่า
كَانَ اللّهُ لِيُطْلِعَكُمْ عَلَى الْغَيْبِ وَلَكِنَّ اللّهَ يَجْتَبِي مِن رُّسُلِهِ مَن يَشَاء
และใช่ว่าอัลลอฮฺ จะทรงให้พวกเจ้ามองเห็นสิ่งเร้นลับก็หาไม่ แต่ทว่าอัลลอฮฺ จะทรงคัดเลือกจากบรรดาเราะซูลของพระองค์ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (บทอาลิอิมรอน / 179)
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สาส์นของพระเจ้าต้องถูกประกาศออกไปโดยบุคคลเฉพาะ (ศาสดา) แต่จะมีหลักประกันอันใดที่สามารถเชื่อถือได้ว่านั้นเป็นสาส์นที่ถูกต้อง และจะทราบได้อย่างไรว่าท่านศาสดาได้รับวะฮฺยูของพระเจ้าจริง และประกาศสิ่งนั้นแก่ประชาชนจริง เช่นกัน ถ้าหากมีสื่อกลางในการประทานวะฮฺยูระหว่างพระเจ้ากับศาสดา เราจะทราบได้อย่างไรว่าสื่อกลางไม่มีความผิดพลาดในการรับวะฮฺยูจากพระเจ้า และได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์
เนื่องจาก วะฮฺยูจะมีประสิทธิผลที่จำเป็นและสามารถตอบสนองความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ได้จะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากการเปลี่ยนแปลงและการตัดต่อเพิ่มเติม ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนานับตั้งแต่วันแรกที่ถูกประทานลงมา จนกระทั่งถูกประกาศต่อหน้าสาธารณชน มิใช่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นไปได้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจหลงลืมระหว่างนำวะฮฺยูมาลงมาให้ หรือศาสดาอาจลืมโดยไม่ได้เจตนาขณะประกาศต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งผลของมันก็คือความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ระหว่างผู้ประกาศกับประชาชนก็เป็นไปได้ และสิ่งนี้เป็นสาเหตุทำให้ขาดความมั่นใจ ดังนั้น มีแนวทางใดหรือที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับมนุษย์ได้ว่า วะฮฺยูของพระเจ้าที่ถูกประกาศมาถึงมือประชาชนนั้นถูกต้องและสมบูรณ์
แน่นอนว่า ถ้าหากแก่นแท้ของวะฮฺยูเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยสำหรับประชาชน ไม่มีทั้งความสามารถในการรับและความรอบรู้ ไม่มีแนวทางควบคุมและตรวจสอบและไม่มีวิธีการประเมินแต่อย่างใด ในกรณีถ้าหากบางคนปฏิบัติขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ความเชื่อของสติปัญญา เวลานั้นจึงจะเข้าใจว่ามีช่องว่างอยู่ เช่น บางคนกล่าวอ้างว่าวะฮฺยูจากพระเจ้าได้ถูกประทานลงที่ตนว่า อนุญาตให้รวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกันได้หรือเป็นวาญิบต้องรวมสิ่งเหล่านั้นเข้าด้วยกันตัวอย่าง (ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง) ของคำกล่าวที่ว่า อาตมันสากลของพระเจ้ามีมากกว่าหนึ่ง หรือมีหุ้นส่วน หรือต้องสูญสลาย ดังนั้น สามารถใช้กฎเกณฑ์ทางความเชื่อพิสูจน์ความไม่จริงแท้ของคำกล่าวอ้างที่โกหกเหล่านี้ได้ แต่กรณีที่ต้องการวะฮฺยูจริงและสติปัญญาก็ไม่สามารถยอมรับหรือปฏิเสธได้ และไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ด้วยการประเมินที่ประโยชน์ หรือคำกล่าวอ้างใด ๆ ทั้งสิ้น กรณีเช่นนี้จะมีหนทางใดสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของวะฮฺยู หรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของวะฮฺว่าไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา
คำตอบ สติปัญญาตามที่กล่าวอธิบายไปแล้วในบทที่ 22 บอกกับเราว่า จำเป็นต้องมีแนวทางอื่นสำหรับการรู้จักความจริงและหน้าที่ในเชิงปฏิบัติของตน แม้ว่าจะไม่ได้หยั่งรู้ถึงความจริงก็ตามแต่สติปัญญาจะบอกกับเราว่า วิทยปัญญาของพระเจ้ากำหนดว่า พระองค์จะประทานศาสดาผู้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่ยังมิได้รับการปรุงแต่งให้แก่สังคม มิเช่นนั้นแล้วเป้าหมายของพระองค์จะไม่สมบูรณ์
อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า หลังจากที่รับทราบแล้วว่าสาส์นของพระเจ้าที่จะมาถึงมือประชาชาติ ต้องผ่านสื่อกลางหนึ่งหรือสองชั้นเพื่อให้ปฐมบทแห่งเจตนารมณ์เสรีของมนุษย์สมบูรณ์ และให้เป้าหมายในการอุบัติมนุษย์เป็นความจริง และเมื่อเอาสาส์นไปสัมพันธ์กับคุณลักษณะสมบูรณ์ของพระเจ้า ก็จะได้บทสรุปว่าสาส์นดังกล่าวบริสุทธิ์จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เนื่องจากถ้าหากพระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้สาส์นของพระองค์บริสุทธิ์ สิ่งนี้ก็จะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรืออาจกล่าวว่าพระเจ้าไม่ทรงทราบว่าพระองค์จะประทานสาส์นผ่านแนวทางใด ผ่านสื่อกลางคนไหนจึงจะไปถึงประชาชนอย่างปลอดภัย สมมุติฐานทำนองนี้ขัดแย้งกับความรู้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของพระเจ้า หรือกล่าวว่าพระองค์ไม่สามารถเลือกสื่อตัวแทนที่ดีได้ และไม่สามารถปกป้องตัวแทนให้พ้นจากการโจมตีของชัยฏอนได้สมมุติฐานนี้ขัดแย้งกับความเดชานุภาพของพระองค์
ดังนั้น ถ้าหากเข้าใจประเด็นที่ว่าพระเจ้าทรงมีความรอบรู้ครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่ง มนุษย์จะไม่สามารถคิดได้ว่าพระองค์ไม่มีความรอบรู้ในการเลือกตัวแทน หรือเลือกตัวแทนมาโดยที่พระองค์ไม่ทราบว่าเขากระทำความผิด อัล-กุรอาน กล่าวว่า
اللّهُ أَعْلَمُ حَيْثُ يَجْعَلُ رِسَالَتَهُ
อัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ยิ่งกว่าที่จะทรงมอบสารของพระองค์ไว้ตรงที่ใด (อันอาม / 124)
ถ้าเข้าใจในอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์จึงไม่อาจคิดได้ว่า พระองค์ไม่อาจปกป้องวะฮฺยูของพระองค์ให้รอดพ้นจากการแทรกแซงชัยฎอน หรือได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเช่นการหลงลืมของมนุษย์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า
عَالِمُ الْغَيْبِ فَلَا يُظْهِرُ عَلَى غَيْبِهِ أَحَدًا إِلَّا مَنِ ارْتَضَى مِن رَّسُولٍ فَإِنَّهُ يَسْلُكُ مِن بَيْنِ يَدَيْهِ وَمِنْ خَلْفِهِ رَصَدًا لِيَعْلَمَ أَن قَدْ أَبْلَغُوا رِسَالَاتِ رَبِّهِمْ وَأَحَاطَ بِمَا لَدَيْهِمْ وَأَحْصَى كُلَّ شَيْءٍ عَدَدًا
พระผู้ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับ ดังนั้น พระองค์จะไม่ทรงเปิดเผยสิ่งเร้นลับของพระองค์แก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงยินดี เช่น เราะซูล ดังนั้น พระองค์จะทรงส่งผู้พิทักษ์เฝ้าดูแลข้างหน้าและข้างหลังเขา เพื่อพระองค์จะทรงรู้แน่นอนว่า พวกเขาได้เผยแผ่สาส์นของพระเจ้าของพวกเขาแล้ว และพระองค์ได้ทรงห้อมล้อม (รอบรู้) ทุกสิ่งที่อยู่ ณ ที่พวกเขา และพระองค์ทรงนับจำนวนทุกสิ่งไว้อย่างครบถ้วน (อัลญิน / 26-28)
ถ้าเข้าใจถึงวิทยปัญญาของพระเจ้า มนุษย์ไม่อาจยอมรับได้ว่าพระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้วะฮฺยูของพระองค์บริสุทธิ์จากความผิดพลาด อัล-กุรอานกล่าวว่า
اللّهُ أَمْراً كَانَ مَفْعُولاً لِّيَهْلِكَ مَنْ هَلَكَ عَن بَيِّنَةٍ وَيَحْيَى مَنْ حَيَّ عَن بَيِّنَةٍ وَإِنَّ اللّهَ لَسَمِيعٌ عَلِيمٌ
อัลลอฮฺทรงให้งานหนึ่งเสร็จสิ้นไป ซึ่งงานนั้นได้ถูกกระทำไว้แล้วเพื่อว่าผู้พินาศจะได้พินาศลงโดยหลักฐานอันชัดแจ้ง และผู้มีชีวิตอยู่จะได้มีชีวิตอยู่โดยหลักฐานอันชัดแจ้ง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้ (อัล-อันฟาล / 42)
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าความพิเศษอันเฉพาะเจาะจงของความรู้ อำนาจ และวิทยปัญญาของพระเจ้าก็คือ พระองค์ทรงประสงค์ให้สารของพระองค์ไปถึงมือประชาชาติอย่างสมบูรณ์ โดยปราศจากการแทรกแซงของของมารร้ายหรือการลืมเลือนของมนุษย์ ดังนั้น การกล่าวว่าวะฮฺยูของพระเจ้าต้องบริสุทธิ์จากความผิดพลาดจึงถูกต้องตรงตามเหตุผลของสติปัญญา
จากคำอธิบายข้างต้นเท่ากับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์มวลมลาอิกะฮฺ และมลาอิกะฮฺผู้นำวะฮฺลงมามอบแด่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ความบริสุทธิ์ของท่านศาสดาในฐานะผู้รับวะฮฺยู ทำนองเดียวกันท่านเหล่านั้นยังบริสุทธิ์จากการทรยศและการฝ่าฝืนในการประกาศวะฮฺยูของพระเจ้า
ประเด็นที่อัล-กุรอานได้เน้นย้ำไว้คือความเป็นผู้สัจจริงของมลาอิกะฮฺผู้นำวะฮฺยู อำนาจในการปกป้องวะฮฺยูของพระเจ้า การปกป้องการแทรกแซงของชัยฏอน ความเป็นผู้มีสัจจะของท่านศาสดา และความบริสุทธิ์ของวะฮฺยูจนกระทั่งมาถึงมือประชาชน ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากอัล-กุรอานบท อัชชุอฺรอ โองการ 193, 107, 125, 143, 162,178, บทอังกะบูต โองการ 21, บทอะอฺรอฟ โองการ 68, บทดุคอน โองการ18, บทตักวีร โองการ 20, บทนัจญฺมุ โองการ 5, อัลฮาเกาะฮฺ โองการ 44-47, บทญิน โองการ 26-28
ความบริสุทธิ์ในประเด็นอื่น
ความบริสุทธิ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่เกี่ยวข้องตามกล่าวมาแล้ว เป็นคุณสมบัติของมวลมลาอิกะฮฺและบรรดาศาสดา (อ.) ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการรับและประกาศวะฮยูของพระเจ้า แต่ยังมีความบริสุทธิ์อื่นที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก ความบริสุทธิ์ของมวลมลาอิกะฮฺ
กลุ่มที่สอง ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา
กลุ่มทีสาม ความบริสุทธิ์ของมนุษย์บางประเภท เช่น บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ท่านหญิงมัรยัม (อ.) หรือท่านหญิงฟาฎิมะฮฺ (อ.)
ประเด็นเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของมวลมลาอิกะฮฺที่มิได้รับวะฮฺยู หรือมิได้ประกาศเผยแผ่สามารถแบกออกเป็น 2 กลุ่มได้ดังนี้คือ ความบริสุทธิ์ของมลาอิกะฮฺวะฮฺยู ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับหรือส่งมอบวะฮฺยูแต่อย่างใด อีกกลุ่มหนึ่งคือความบริสุทธิ์ของมวลมลาอิกะฮฺที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือติดต่อกับวะฮยู เช่น มลาอิกะฮฺที่มีหน้าที่จดบันทึกการกระทำของมนุษย์ มลาอิกะฮฺที่มีหน้าที่ปลิดดวงวิญญาณของมนุษย์ และฯลฯ
ประเด็นเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) ในกรณที่มิได้เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของท่านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเช่นกันกล่าวคือ ศาสดาผู้บริสุทธิ์จากความผิดบาปโดยตั้งใจ กับบรรดาศาสดาที่บริสุทธิ์เนื่องจากการหลงลืม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้สามารถนำมาใช้ได้กับมนุษย์ทั่ว ๆ ไปทีมิได้เป็นศาสดา
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับมวลมลาอิกะฮฺที่มิได้รับหรือมีหน้าที่นำวะฮฺยูมามอบแก่ศาสดา สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลของสติปัญญาก็ต่อเมื่อ ต้องรู้จักสถานภาพตัวตนของท่านเสียก่อน แต่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานภาพของท่านมิใช่เรื่องง่าย และไม่มีความเหมาะสมที่จำนำมาวิพาษ์วิจารณ์ในที่นี้ ดังนั้น จะขออ้างถึงอัล-กุรอาน ที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของมวลมลาอิกะฮฺสัก 2,3 โองการ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีงามแก่ผู้อ่านทุกท่าน
อัล-กุรอาน บทอัล-อัมบิยาอฺ โองการที 27 กล่าวว่า
بَلْ عِبَادٌ مُّكْرَمُونَ لَا يَسْبِقُونَهُ بِالْقَوْلِ وَهُم بِأَمْرِهِ يَعْمَلُونَ
พวกเขา (มะลาอิกะฮฺ) เป็นบ่าวผู้มีเกียรติ พวกเขาจะไม่ชิงกล่าวคำพูดก่อนพระองค์ และพวกเขาปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์
อีกโองการหนึ่งในซูเราะตะฮรีม โองการที่ 6 กล่าวว่า
لَا يَعْصُونَ اللَّهَ مَا أَمَرَهُمْ وَيَفْعَلُونَ مَا يُؤْمَرُونَ
พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขาและพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชาเท่านั้น
อัล-กุรอาน ทั้งสองโองการบ่งชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของมลาอิกะฮฺว่า พวกเขาเป็นบ่าวที่มีเกียรติ จะปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว จะไม่ฝ่าฝืนหรือดื้อดึงต่อคำสั่งของพระองค์ แม้ว่าโองการจะครอบคลุมมวลมลาอิกะฮฺทั้งหมดก็ตาม
ส่วนประเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของมนุษย์บางประเภท (นอกเหนือไปจากบรรดาศาสดา) ซึ่งเหมาะสมกับประเด็นอิมามมะฮฺ (Imam Logy) ดังนั้น ในบทนี้จะขออธิบายประเด็นเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) แม้ว่าประเด็นดังกล่าวสามารถสร้างความเข้าใจได้ด้วยเหตุผลทางการอ้างอิงหรือการปฏิบัติตามเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวหลังจากการพิสูจน์เหตุผลด้วยอัล-กุรอาน และแบบฉบับของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อความเหมาะสมระหว่างประเด็นที่กำลังกล่าวถึง เป็นการดีกว่าถ้าจะกล่าวอธิบายไว้ ณ ที่นี้โดยยกให้ของอัล-กุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดาเป็นประเด็นหลัก
ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา
ประเด็นที่กล่าวว่าบรรดาศาสดา (อ.) บริสุทธิ์จากความผิดหรือบาปกรรมนั้น มีความขัดแย้งกันในหมู่มุสลิม บรรดาชีอะฮฺสิบสองอิมาม เชื่อว่าบรรดาศาสดาทั้งหลาย (อ.) บริสุทธิ์จากความผิดและบาปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ บาปที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจกระทำก็ตาม หรือแม้แต่จะกระทำด้วยความพลั้งเผลอก็ตาม นับตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมาจนกระทั่งวันที่ท่านอำลาจากโลกไป
แต่มุสลิมบางกลุ่ม เชื่อว่าบรรดาศาสดา (อ.) จะบริสุทธิ์เฉพาะจากบาปใหญ่เท่านั้น บางกลุ่มเชื่อว่าบรรดาศาสดา (อ.) บริสุทธิ์จากบาปนับตั้งแต่เข้าวัยบรรลุภาวะตามศาสนกำหนด บางกลุ่มเชื่อว่าบริสุทธิ์ตั้งช่วงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดา แต่มีรายงานกล่าวว่า อะฮฺลุซซุนนะฮฺบางนิกาย (ฮัชวียะฮฺและอะฮฺลุลฮะดีซ) ปฏิเสธเรื่องความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา พวกเขาต่างเชื่อว่าความผิดอาจเกิดกับบรรดาศาสดาได้ทุกเมื่อ แม้แต่ในช่วงที่เป็นศาสดาอาจกระทำความผิดด้วยความตั้งใจก็ได้
ดังนั้น ก่อนที่จะพิสูจน์ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา (อ.) จำเป็นต้องอธิบายประเด็นสำคัญเสียก่อนเพื่อเป็นปฐมบทต่อการสร้างความเข้าใจอันดีงามต่อไป
ประการที่หนึ่ง จุดประสงค์ของการกล่าวว่า บรรดาศาสดาเป็นผู้บริสุทธิ์ (มะอฺซูม) หรือมนุษย์บางจำพวกเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น มิได้หมายความว่าบริสุทธิ์จากบาปหรือไม่ได้กระทำความผิดเท่านั้น เนื่องจากว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์บุถุชนธรรมดาจะไม่กระทำความผิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีอายุสั้นเพียงเล็กน้อย ทว่าจุดประสงค์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์หมายถึง บุคคลที่มีจิตใจเคยชินหรือมีพลังพิเศษในใจแม้ว่าเขาจะตกอยู่ในภาวะที่ลำบากแสนเข็นที่สุด เขาก็จะไม่กระทำบาปเด็ดขาด ความเคยชินที่รู้และเข้าใจอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้ถึงความหน้ารังเกียจ และความหน้าขยะแขยงในบาปกรรม ซึ่งเขามีพลังพิเศษที่คอยควบคุมอำนาจฝ่ายต่ำ แน่นอน ความเคยชินเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับความกรุณาพิเศษจากพระเจ้า ซึ่งสามารถนำเอาไปสัมพันธ์กับพระเจ้าในที่ฐานะที่เป็นตัวการก่อให้เกิดความเคยชินนี้ หากมิใช่เช่นนั้นแล้วพระองค์มิได้บังคับให้บุคคลใดเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือกีดขวางเขาไม่ให้ทำความผิดโดยถอดถอนเจตนารมณ์เสรีออกไปจากเขา ส่วนความบริสุทธิ์ของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า เช่น นบูวัต หรืออิมามมะฮฺนั้นในความหมายอื่นสามารถนำไปสัมพันธ์กับพระเจ้าได้ นั่นคือพระองค์เป็นผู้รับรองความบริสุทธิ์ของท่านเหล่านั้น
ประการที่สอง ความจำเป็นของความบริสุทธิ์ของทุกคนก็คือ การละทิ้งการกะทำที่เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) สำหรับตน เช่น ความผิดในทุกสถานการณ์เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) หรือภารกิจทั้งหมดตามหลักการในยุคสมัยของคนเมื่อกระทำแล้วเป็นบาป ด้วยเหตุนี้ ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาถ้าได้กระทำกิจประการหนึ่งซึ่งตามหลักการในยุคสมัยของท่านเป็นที่อนุญาต แต่ในสมัยก่อนหน้าท่านอาจเป็นสิ่งต้องห้าม หรือในสมัยหลังจากท่านอาจะถูกห้ามมิให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีก ดังนั้น สิ่งนี้ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
ปรการที่สาม จุดประสงค์ของความผิด (บาป) ซึ่งบรรดาผู้บริสุทธิ์ต้องไม่กระทำนั้น หมายถึงการกระทำที่ทางวิชาฟิกฮฺเรียกว่า ฮะรอม หรือการละเว้นการกระทำนั้น ซึ่งเรียกว่าข้อบังคับ (วาญิบ) แต่สำหรับคำว่า บาปกรรม (กุนาฮฺ) นั้นมีความหมายกว้างมากกว่าคำว่า ซันบุน (บาป) และคำว่า อิซยาน ซึ่งหมายรวมไปถึง การละเว้นสิ่งที่ดีกว่าด้วย ดังนั้น การกระทำความผิดตามที่กล่าวมาจึงไม่ได้ขัดแย้งกับความเป็นผู้บริสุทธิ์
คำถาม
1. สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของวะฮฺยูจากทุกช่วงของที่ประทานได้อย่างไร
2. นอกเหนือจากความบริสุทธิ์ในการรับและประกาศวะฮฺยูแล้ว ยังมีประเด็นใดเป็นความบริสุทธิ์เหลืออยู่อีก
3. สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดามลาอิกะฮฺ ได้อย่างไร
4. ทัศนะเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดามีอะไรบ้าง และทัศนะชีอะฮฺกล่าวไว้ว่าอย่างไร
5. จงอธิบายความบริสุทธิ์และองค์ประกอบสำคัญของมันมา