') //-->
ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ ชีวประวัติของอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) เกี่ยวกับอายุขัยที่ยืนยาวนานของท่าน บางท่านมีคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะมีอายุยืนยาวนานขนาดนั้น[1]
ที่มาของคำถามและเหตุผลที่ถามเช่นนี้ เนื่องจากว่าโลกเราปัจจุบันนี้มีสภาพแปรเปลี่ยนไป ปรชากรโลกอายุโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 80 ถึง 100 ปี เท่านั้น แม้ว่าบางครั้งอาจจะพบว่าบางคนมีอายุเกิน 100 ปี แต่นั่นก็ส่วนน้อยเมือเทียบกับอัตราของประชากรโลก
บางท่านเมื่อได้ยินเรื่องอายุขัยที่ยาวนานของอิมามไม่สามารถรับได้ และไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ทั้งที่การมีอายุขัยที่ยืนยาวนาน ถ้าพิจารณาในทัศนะของสติปัญญาและวิชาการแล้วอาจเป็นไปได้ ซึ่งบรรดานักวิชาการในยุคปัจจุบันทำการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับอวัยวะและโครงสร้างของมนุษย์ พบว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์จะมีชีวิตยืนยาวนาน แม้กระทั่งสามารถหลีกเลี่ยงความแก่ชราอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
ศาสดาจาร ..... เขี่ยนไว้ว่า ในทัศนะของฉันความก้าวหน้าทางเทคนิคและวิวัฒนาการ และภารกิจต่าง ๆ ที่เราได้กระทำ มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 สามารถมีอายุยืนยาวนานถึง 1000 ปี[2]
ด้วยเหตุนี้ บรรดานักวิชาการพยายามค้นคว้าหาวิถีทางที่จะหนีหรือชะลอความแก่ชรา หรือไปให้ถึงยังเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ การมีอายุยืนยาวนานที่สุด ดังเป็นที่ประจักษ์ว่าบนหนทางดังกล่าวมีบางคนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งไม่จำนวนไม่น้อยที่ผู้คนเหล่านั้นพยายามเลือกอยู่ในเขตพื้นที่ ๆ มีสภาพภูิมิอากาศดี รับประทานอาหารที่มีความเหมาะสม มีการออกกำลังกายให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ความคิด และสรรหาปัจจัยอย่างอื่นจนกระทั่งในปัจจุบันมีบางคนมีอายุเกือบ 150 ปี และบางคนมีอายุยืนมากกว่านั้น ที่สำคัญไปกว่านั้นการดำรงชีวิตของมนุษย์ในอดีต เป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งฟากฟ้า และตำราประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้เป็นจำนวนมากทั้งชื่อและที่อยู่อาศัยของผู้คนเหล่านั้นว่า มีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งบทความและตำรับตำรามากมายเขียนไว้ ซึ่งจะขอหยิบยกพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. อัล-กุรอานบางโองการมิได้อธิบายไว้เฉพาะการมีอายุที่ยืนยาวนานเท่านั้น แต่ยังได้อธิบายถึงความเป็นไปได้ที่จะมีอายุยืนและมีความเป็นอมตะ เช่น โองการที่กล่าวเกี่ยวกับศาสดายูนุซ (อ.) โดยกล่าวว่า แน่นอน เขาจะอยู่ในท้องปลาจวบจนกระทั่งวันฟื้นคืนชีพ
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าโองการอัล-กุรอานกำลังกล่าวถึงการมีอายุยาวนาน (ตั้งแต่ยุคสมัยของยูนุซจนถึงวันสุดท้ายของโลก) ซึ่งตามหลักชีววิทยาแล้วเรียกว่า การมีชีวิตอมตะ ซึ่งในทัศนะอัล-กุรอาน ทั้งมนุษย์และปลามีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุยืนยาวนาน
2. อัล-กุรอานกล่าวถึงเรื่องราวของศาสดานูฮฺ (อ.) ว่่า และโดยแน่นอนเราได้ส่งนูฮฺไปยังหมู่ชนของเขา และเขาได้อยู่ร่วมกับพวกเขาหนึ่งพันปีเว้นห้าสิบปี (950 ปี)[3]
สิ่งที่โองการกล่าวถึงคือ ช่วงเวลาที่ท่านศาสดาดำรงตำแหน่งการเป็นศาสดา ซึ่งมีรายงานบางบทกล่าวถึงอายุขัยของท่านศาสดานูฮฺ (อ.) ว่ามีอายุยืนยาวถึง 2450 ปี[4]
สิ่งที่ควรพิจารณาคือ รายงานจากท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวว่า วิถีชีวิตของท่านอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) เหมือนกับแบบฉบับของศาสดานูฮฺ (อ.) ประการหนึ่งคือ การมีอายุขัยที่ยืนยาวนาน[5]
3. อัล-กุรอาน กล่าวถึงเรื่องราวของศาสดาอีซา (อ.) ว่า หามิได้ อัลลอฮฺทรงยกเขา (อีซา) ขึ้นไปยังพระองค์ต่างหาก และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ[6]
บรรดามุสลิมต่างเชื่อด้วยหลักการตามพื้นฐานของอัล-กุรอานและรายงานจำนวนมากมายว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ ณ ฟากฟ้านั้น เมื่อถึงาช่วงการปรากฏกายของอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) ท่านจะปรากฏกายลงมาด้วย เพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือและนมาซตามหลังอิมามะฮฺดียฺ (อ.)
อิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) กล่าวว่า ในตัวของอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) มีแบบฉบับ 4 ประการของบรรดาศาสดา 4 ท่านอยู่ในตัว ซึ่งแบบฉบับหนึ่งของศาสดาอีซาที่อยู่ในตัวของอิมามมะฮฺดียฺคือ การกล่าวว่าอิมามเสียชีวิตแล้วขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่[7]
นอกจากอัล-กุรอานแล้ว คัมภีร์เตารอต และอินญีลยังกล่าวถึงการมีชีวิตยืนยาวนานของศาสดาอิมรอน (อ.) คัมภีร์เตารอตกล่าวว่า อาดัมดำรงขีวิตอยู่นานถึง 930 ปี อุนุซดำรงชีวิตอยู่นาน 950 ปี กีนานดำรงชีวิตอยู่นาน 910 ปี และมะเตาชาเละฮฺดำรงชีวิตอยู่นานถึง 960 ปี[8]
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าคัมภีร์เตารอตเองก็ยอมรับเรื่องการมีชีวิตยืนยาวนานของบุคคลในสมัยก่อน ซึ่งแต่ละท่านมีอายุยืนเกิน 900 ปี ทั้งสิ้น
บางตอนของคัมภีร์อินญิลอธิบายว่า หลังจากศาสดาอีซา (อ.) ถูกตรึงไม้กางเขนแล้ว ท่านฟื้นคืนชีพกลับมาและถูกนำตัวกลับไปยังฟากฟ้[9] และจะกลับลงมาอีกในวันหนึ่งจากคำพูดดังกล่าวสรุปได้ว่า ศาสดาอีซา (อ.) นับตั้งแต่กำเนิดขึ้นมาและจากไปจนถึงปัจจุบันมีอายุเกิน 2000 ปี
คำอธิบายดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ว่าบรรดาผู้ปฏิบัติตามศาสนายิวและคริสเตียน เนื่องจากเชื่อตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของตนจึงต้องเชื่อเรื่องการมีอายุขัยที่ยืนยาวนาน
ดังนั้น ในทัศนะของวิชาการและสติปัญญาต่างยอมรับเรื่องการมีอายุยืนยาวนาน ประวัติศาสตร์ก็ยืนยันถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาอิสลาม ยิว และคริสเตียนต่างกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ และประเด็นดังกล่าวยังเป็นการพิสูจน์อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระผู้เป็นเจ้า ทุกสิ่งบนโลกนี้ตลอดจนสาเหตุต่าง ๆ ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจและพระประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น มาตรว่าพระองค์ไม่ทรงประสงค์จะไม่มีสาเหตุใดก่อให้เกิดผลได้อย่างเด็ดขาด
พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงสรรสร้างสรรพสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้มีขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ทรงเนรมิตอูฐให้ออกมาจากใจกลางภูเขา ผู้ทรงทำให้ไฟที่เผาไหม้ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เย็นลงอย่างมีสันติในบัดดล ผู้ทรงแยกน้ำทะเลออกเป็นทางเดินแก่มูซา (อ.) และบรรดาสาวกเพื่อให้พวกเขาเดินผ่านไปอีกฝากหนึ่ง[10] สิ่งที่เกิดกับบรรดาศาสดาทั้งหลายและหมู่มวลมิตรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนคนสุดท้ายของพระองค์ มาตรว่าพระองค์ทรงประสงค์ที่จะเก็บรักษาเขาไว้เพื่อเป็นความหวังแก่ผู้ประกอบความดีงามทั้งหลาย และเพื่อให้สัญญาที่พระองค์สัญญาไว้ในอัล-กุรอาน เรื่องการมีอายุยืนยาวนานเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เกินความสามารถของพระองค์กระนั้นหรือ
อิมามฮะซันมุจตะบาอ์ (อ.) กล่าวว่า พระเจ้าทรงให้ชีวิตเขา (มะฮฺดียฺ) ยืนยาวนานในช่วงของการเร้นกาย หลังจากนั้นพระองค์จะทรงให้เขาปรากฏกายออกมาในสภาพของชายหนุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เพื่อให้ประชาชาติได้รับรู้ว่าหากพระองค์อานุภาพเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย[11]
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องการมีอายุยืนยาวนานของอิมมามมะฮฺดียฺ (อ.) เมื่อพิจารณาทัศนะต่าง ๆ ทั้งด้านสติปัญญา หลักการด้านวิชาการ และประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือ ความประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง
[1] ปัจจุบันตรงกับปี ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 1426 อิมามมะฮฺดียฺ (อ.) ประสูติเมือวันที่ 15 ชะอฺบาน ปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 255 ซึ่งเมื่อนับคราว ๆ อิมามมีอายุประมาณ 1171 ปี
[2] วารสารดานิชมัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 หน้า 147
[3] อัล-กุรอาน บทอังกะบูต โองการที่ 14
[4] กะมาลุดดีน เล่มที่ 2 หมวดที่ 46 ฮะดีซที่ 3 หน้าที่ 309
[5] อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หมวดที่ 21 ฮะดิซที่ 4 หน้าที่ 591
[6] อัล-กุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 157
[7] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 51 หน้าที่ 217
[8] ซินเดะฮฺรูซกอรอน หน้าที่ 132 คัดลอกมาจากเตารอต แปลโดย ฟาฎิล ฆอนี หมวดที่ 5 โองการ 5- 32
[9] ซินเดะฮฺรูซกอรอน หน้าที่ 134 คัดลอกมาจากอะฮฺญะดีด กิตาบอะอฺมาลของศาสดา หมวดที่ 1 โองการ 1-12
[10] ประเด็นดังกล่าวมีกล่าวไว้ในอัล-กุรอาน บทอันบิยาอฺ โองการที่ 69 บทอัชชุอะรออฺ โองการที่ 63
[11] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 51 หน้าที่ 109