') //-->
ฮะดีซซะเกาะลัยนฺได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เชิญชวนมุสลิมทั้งหมดให้ปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺ (ทายาท) ของท่าน ซึ่งอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอานคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ภายหลังจากท่าน ท่านได้กล่าวเป็นพิเศษว่าอะฮฺลุลบัยตฺและอัล-กุรอานจะไม่มีวันแยกทางกันอย่างเด็ดขาด
แท้จริงข้าพเจ้าจะทิ้งไว้ในหมู่พวกท่านสิ่งหนึ่ง ถ้าหากพวกท่านยึดมั่นอยู่กับสิ่งนี้ ท่านทั้งหลายจะไม่หลงผิด หลังจากข้าพเจ้าจากไปสิ่งแรกยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่งหนึ่งนั้นคือ พระคัมภีร์ของอัลลอฮฺเป็นสายเชือกที่ถูกโรยลงมาจากฟากฟ้าลงมาสู่แผ่นดิน และวงค์วานของข้าพเจ้า คือบุคคลในครอบครัวของข้าพเจ้าทั้งสองนั้นจะไม่แยกออกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะมายังสระน้ำของข้าพเจ้า ดังนั้นท่านทั้งหลายจงมองดูว่าท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่แทนข้าพเจ้าในสองสิ่งนั้นอย่างไร[๑]
บนพื้นฐานของฮะดีซซเะกาะลัยนฺจะเห็นว่า อะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) คือบุคคลที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำว่าพวกเขาจะอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอานตลอดไป เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ปราศจากบาป และเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ภายหลังจากท่าน มิเช่นนั้นแล้วอะฮฺลุลบัยตฺต้องแยกออกจากอัล-กุรอานแน่นอน ขณะที่ท่านกล่าวย้ำว่า อัล-กุรอานกับอะฮฺลุลบัยตฺจะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดจนกว่าทั้งสองจะย้อนกลับคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ
ด้วยเหตุนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) อย่างลึกซึ้งทั้งบุคลิกภาพและคุณลักษณะส่วนตัว ณ ที่นี้จะขอกล่าวรายงานเกี่ยวกับบุคลิกส่วนตัวของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ที่นักฮะดีซส่วนมากได้รายงานไว้ เช่น
๑. มุสลิม บิน ฮัจญาจ หลังจากกล่าวถึงอะดีซซะเกาะลัยนฺแล้ว กล่าวว่า ยะซีด บิน ฮัยยาน ได้ถามซัยดฺ บิน อัรกอมว่า อะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดาเป็นใคร พวกเขาคือเหล่าภรรยาของท่านศาสดาหรือ ซัยดฺ บิน อัรกอม กล่าวตอบว่า
لا وَا يم الله إن المرأة تكون مع الرّجل العصر من الدّهر ثمّ يطلّقها فترجع إلى أبيها و قومها أهل بيته أصله و عصبته الّذين حُرِمُوا الصّدقه بعده
ไม่ (ไม่ใช่เช่นนี้) ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แท้จริงผู้หญิงจะอยู่กับผู้ชายแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีการหย่าร้างเธอก็กลับไปอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิม ดังนั้น จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺหมายถึงบุคคลที่มาจากเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน และภายหลังจากศาสดาเซาะดะเกาะฮฺเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับพวกเขา[๒]
ริวายะฮฺดังกล่าวได้ยืนยันถึงความจริงประการหนึ่งว่า จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) หมายถึงบุคคลที่การยึดมั่นกับพวกเขาเป็นวาญิบเท่าเทียมกับ การปฏิบัติตามอัล-กุรอาน ซึ่งไม่ได้รวมเหล่าภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และนอกจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่มีกับท่านแล้ว บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ ยังมีความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณที่ละม้ายคล้ายคลึงกับท่านอย่างยิ่ง อันเป็นความพิเศษที่มีเฉพาะอะฮฺลุลบัยตฺเท่านั้น ท่านจึงได้แนะนำประชาชนว่าอะฮฺลุลบัยตฺของฉัน เป็นที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลาย ภายหลังจากฉัน
๒. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เพียงอย่างเดียว ท่านยังได้บอกจำนวนอะฮฺลุลบัยตฺไว้ด้วยว่ามี ๑๒ ท่าน
มุสลิมได้รายงานจาก ญาบิร บิน ซัมเราะฮฺว่า
سمعتُ رسول الله صلّ الله عليه و سلم يقول : لا يزال الاسلام عزيزاً إلى اثنى عشر خليفةً، ثمّ قال كلمة لم أفهمها، فقلتُ لأبى : ماقال ؟ فقال كلّهم من قريش
ฉันได้ยินท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า อิสลามจะดำรงอยู่อย่างมีเกียรติด้วยเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่าน หลังจากนั้นท่านได้กล่าวบางอย่าง แต่ฉันไม่เข้าใจ ฉันถามบิดา ว่า ท่านกล่าวว่าอะไร บิดาฉันพูดว่า ท่านบอกว่าเคาะลิฟะฮฺทั้งหมดเป็นชาวกุเรช[๓]
มุสลิม บิน ฮัจญาจ ได้รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อีกว่า
لا يزال أمر النّاس ما ضياً ما وليهم إثنا عشر رجلاً
กิจการต่าง ๆ ที่ดีของประชาชนจะผ่านไปด้วยดี ตราบที่ผู้ปกครองของพวกเขาคือ ๑๒ เคาะลิฟะฮฺ[๔]
ฮะดีซดังกล่าวได้ยืนยันถึงความถูกต้องของหลักการของชีอะฮฺที่ว่า ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต้องมีอิมามอีก ๑๒ ท่าน เนื่องจากหลักการอิสลามระบุว่าเคาะลิฟะฮฺทั้ง ๑๒ ท่านมีหน้าที่ปกครองดูแล เป็นที่ย้อนกลับของความรู้สำหรับประชาชน และเป็นรากฐานที่มั่นคงของอิสลามหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ดังนั้นเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่านตามที่ฮะดีซกล่าวไว้ นอกจากอะฮฺลุลบัยตฺ ๑๒ ท่านแล้วไม่สามารถเป็นบุคคลอื่นได้ เพราะนอกจากเคาะลิฟะฮฺทั้ง ๔ หรือที่มุสลิมส่วนใหญ่รู้จักกันในนามของเคาะลิฟะฮฺรอชิดีน ผู้นำหลังจากนี้ไม่ว่าจะมาจากสายตระกูลบะนีอุมัยยะฮฺหรืออับบาซียะฮฺ ล้วนมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งสิ้น ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าความตกต่ำของอิสลาม และประชาชาติมุสลิมเกิดจากน้ำมือของผู้ปกครองเหล่านี้
ด้วยเหตุนี้ จุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺตามที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำว่าพวกเขาอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอานโดยจะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด อีกทั้งเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ทั้งหลาย หมายถึงอิมามหรือเคาะลิฟะฮฺ ๑๒ ท่านนั่นเอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาหลักการอิสลาม ซุนนะฮฺ และอุ้มชูความรู้ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ให้ธำรงอยู่ต่อไป
๓. อะมีรุลมุอฺมินีน (อ.) ผู้นำมวลมุสลิมทั้งหลายได้กล่าวยืนยันว่าผู้นำหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ล้วนเป็นชาวกุเรชทั้งสิ้น ซึ่งเป็นหลักฐานที่สนับสนุนหลักการของชีอะฮฺได้เป็นอย่างดี ท่านกล่าวว่า
إنّ الائمة من قريش غرسوا فى هذا البطن من بنى هاشم لا تصلح على من سواهم و لا تصلح الولاة من غير هم
แท้จริงอิมามล้วนเป็นชาวกุเรชมาจากตระกูลบะนีฮาชิม นอกจากพวกเขาแล้วบุคคลอื่นไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประชาชน และการปกครองของพวกเขาไม่มีรากที่มา[๕]
สรุป จากริวายะฮฺทั้งหมดที่กล่าวมาได้รับความจริง ๒ ประการดังนี้
๑. การยึดมั่นและปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นวาญิบเท่าเทียมกับการปฏิบัติตามอัล-กุรอาน
๒. อะฮฺลุลบัยตฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่าเทียมกับอัล-กุรอาน ในฐานะที่ถูกแนะนำว่าเป็นที่ย้อนกลับของความรู้ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษดังต่อไปนี้
ก. ทั้งหมดมาจากเผ่ากุเรชตระกูลบะนีฮาชิม
ข. ทั้งหมดเป็นเชื้อสายใกล้ชิดสืบมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งการเซาะดะเกาะฮฺฮะรอมสำหรับพวกเขา
ค. ทั้งหมดเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากบาป ถ้าไม่เช่นนั้น พวกเขาต้องแยกออกจากอัล-กุรอาน ขณะที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ทั้งสอง (กุรอานและอิตรัต) จะไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ
ง. ทั้งหมดมี ๑๒ ท่าน และแต่ละท่านได้เป็นอิมามปกครองประชาชาติ ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)
จ. เคาะลิฟะฮฺทั้ง ๑๒ ท่าน เป็นสาเหตุนำความยิ่งใหญ่และเกียรติยศที่สูงส่งมาสู่อิสลาม
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ จากริวายะฮฺที่กล่าวมา ซึ่งมีความชัดเจนยิ่งกว่าแสงแดดตอนกลางวัน ทำให้ประจักษ์ชัดว่าจุดประสงค์ของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แนะนำให้มุสลิมทั้งหลายปฏิบัติตามก็คือ อิมาม ๑๒ ท่านที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นทายาทของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งบรรดาชีอะฮฺได้ยึดถือปฏิบัติตาม และถือเป็นเกียรติยศที่ได้รู้จักอะฮฺกามและความรู้ด้านอื่นจากท่าน
[๑] รายงานโดยมุสลิมและติรมีซี ดัดมาจากหนังสือ ฮะดีซเซาะฮียฺ เล่ม ๔ หน้า ๖๓๔ แปลโดย อ. อรุณบุญชม
[๒] เซาะฮียฺมุสลิม ญุซที่ ๗ บาบฟะฎออิล อะลี บิน อะบี ฏอลิบ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๑๒๓
[๓] เซาะฮียฺมุสลิม เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓ พิมพ์ที่อียิปต์
[๔] อ้างแล้วเล่มเดิม
[๕] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮฺ ซอลิฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๔๔