') //-->
๙๕. พระประสงค์ของพระองค์ในการสร้างนบีอาดัม (อ.)
قَالَ يَا إِبْلِيسُ مَا مَنَعَكَ أَن تَسْجُدَ لِمَا خَلَقْتُ بِيَدَيَّ أَسْتَكْبَرْتَ أَمْ كُنتَ مِنَ الْعَالِينَ
พระองค์ตรัสว่า อิบลีสเอ๋ย อะไรเล่าที่ขัดขวางเจ้ามิให้กราบต่อสิ่งที่ข้าได้สร้างด้วยมือทั้งสองของข้า เจ้าเป็นผู้ยโสโอหังหรือว่าเจ้าอยู่ในหมู่ผู้สูงส่ง (ซ็อซ โองการที่ ๗๕)
เหตุผลที่พระองค์ตรัสพาดพิงว่าพระองค์สร้างมนุษย์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองว่า อะไรคือสิ่งที่หักห้ามเจ้ามิให้กราบสิ่งมีชีวิตที่ข้าเป็นผู้สร้างมากับมือของข้าเอง เนื่องจากพระองค์ต้องการบอกว่า ทุกสรรพสิ่งที่ข้าสรรสร้างก็เพื่อสรรพสิ่งอื่นทั้งสิ้น แต่สำหรับอาดัมแล้วข้าได้สร้างเพื่อตัวข้า ความเฉพาะเจาะจงพิเศษนี้โองการกล่าวว่า ข้าได้เป่าวิญญาณข้าไปบนเขา
เหตุผลที่ใช้คำว่า มือ เป็นพหูพจน์นั้นเป็นการอธิบายถึงการให้ความสำคัญต่อการสร้างมนุษย์ มิเช่นนั้นการกล่าวในรูปของเอกพจน์ก็ให้ความหมายสมบูรณ์ได้เช่นกัน แต่เป็นเพราะว่าเราให้ความสำคัญต่อมนุษย์ในการกระทำภารกิจสำคัญอื่น ๆ อีกมาก เราจึงกล่าวว่า เราได้สร้างด้วยสองมือของเรา
๙๖. บรรดามะลาอิกะฮฺกราบนบีอาดัม (อ.)
มิต้องสงสัยว่าคำว่า ซัจญฺดะฮฺ นั้นหมายถึงการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า เนื่องจากบนโลกนี้ไม่มีสรรพสิ่งใดมีความคู่ควรต่อการเคารพภักดีนอกจากพระองค์ และนี่คือความหมายของความเป็นเอกภาพในการเคารพภักดี ที่ว่าจะไม่เคารพภักดีสิ่งใดนอกจากพระองค์ ฉะนั้น การก้มกราบของบรรดามะลาอิกะฮฺ จึงเป็นการก้มกราบอัลลอฮฺ (ซบ.) ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสิ่งถูกสร้างสูงส่ง จึงมีคำสั่งให้กราบนบีอาดัม (อ.) อย่างไรก็ตามความหมายของการ กราบ (ซัจญฺดะฮฺ) ตรงนี้หมายถึง ความนอบน้อม มิใช่เป็นการแสดงความเคารพภักดี
อิมาม ริฎอ (อ.) กล่าวว่า การก้มกราบของบรรดามะลาอิกะฮ์นั้น ด้านหนึ่งเป็นการกราบต่ออัลลอฮฺ และอีกด้านหนึ่งเป็นการให้เกียรติอาดัม เพราะเราทั้งหลายต่างอยู่ไขสันหลังของอาดัม (นะมูเนะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๘๓, นูรุลซะกอลัยนฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๕๘)
๙๗. ความผิดพลาดของนบีอาดัม (อ.)
وَعَصَى آدَمُ رَبَّهُ فَغَوَى
และอาดัมได้ฝ่าฝืนพระผู้อภิบาลของเขา เขาจึงหลงผิด (ฎอฮา โองการที่ ๑๒๑)
ถึงแม้ว่า โดยทั่วไป การประพฤติผิดนั้น หมายถึง การทำบาป แต่ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายคำนี้ว่า เป็นการหันเหออกจากคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหลักหรือคำสั่งรองก็ตาม
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว บางครั้งคำสั่งห้ามและคำสั่งใช้เป็นเพียงข้อแนะนำ เช่น คำแนะนำของแพทย์บางครั้งแพทย์ห้ามผู้ป่วยกระทำสิ่งนั้นและสิ่งนี้ หรือห้ามรับประทานของแสลงเป็นต้น การไม่เชื่อฟังแพทย์จะไม่มีผลอันใดเกินเลยไปจากความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แน่นอน ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติขัดต่อคำสั่งของแพทย์เท่ากับได้ทำอันตรายกับตัวเอง
ฉะนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสกับนบีอาดัม (อ.) ว่า จงอย่ากินผลไม้จากต้นไม้นั้น ถ้าไม่เช่นนั้นเจ้าจะถูกขับออกจากสวรรค์ และต้องอยู่บนโลกที่มีแต่ความยากลำบาก
การกระทำผิด บางครั้งมีความผิดสถานเดียวหมายถึงไม่มีข้อยกเว้นแก่ผู้ใดทั้งสิ้น เช่น การพูดจาโกหกหรือการกดขี่ข่มเหง แต่บางครั้งก็ขึ้นอยู่สถานการ เช่น การไปเยี่ยมคนถือว่าไม่ใช่ความผิด แต่ถ้าไปเยี่ยมโดยมีเจตนาอื่นแอบแฝง เช่น ในความช่วยเหลือหรือเป็นเพราะตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา อย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม กระนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด หรือตัวอย่างเช่นการสร้างโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่งโดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยบริจาคค่าแรงงานแก่คนงานซึ่งไม่มากมายนัก การกระทำเช่นนั้นสำหรับเขาถือว่าเป็นการเสียสละ แต่ถ้าเศรษฐีเป็นผู้บริจาคเท่ากับคนจนถือว่าไม่เหมาะสมสำหรับเขา ทว่าเขายังถูกตำหนิอีกต่างหาก
ดังนั้น จุดประสงค์ของการละเว้นสิ่งที่ดีกว่าก็คือ ความหมายตามที่กล่าววมาซึ่งบางครั้งมันจะชักจูงมนุษย์ไปสู่การกระทำความผิด (อัลมีซาน เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๒๒, นะมูเนะฮฺ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๒๓)
๙๘. สวรรค์ของนบีอาดัม (อ.)
แม้ว่าบางคนกล่าวว่านั่น คือ สรวงสวรรค์ที่ถูกสัญญาไว้ แต่ด้วยเหตุผล 3 ประการ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ยืนยันว่านั่นไม่ใช่สรวงสวรรค์ที่ถูกสัญญาไว้
๑. สรวงสวรรค์นั้น เป็นสถานที่จีรังถาวรการออกจากที่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด ส่วนสวรรค์ของนบีอาดัม (อ.) เป็นเพียงสวนที่เต็มไปด้วยโปรดปรานและเป็นสถานที่เขียวขจีแห่งหนึ่งบนโลกนี้ หรือที่เรียกว่าสวรรค์บนดินนั้นเอง รายงานกล่าวว่า
جنّة من جنان الدّنِيا يطلع فيها الشمس و القمر و لو کان من جنان الآخرة ما خرج منها أبدا
นั่นเป็นสวนเนรมิตหนึ่งจากสวนเนรมิตทั้งหลายบนดินมีทั้งแสงตะวันและแสงเดือน ถ้าหากเป็นสรวงสวรรค์แห่งโลกหน้าแล้วไซร้ จะไม่มีการออกมาข้างนอกเด็ดขาด (นูรุลซะเกาะลัยนฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๖๒)
๒. อิบลีซ ผู้เปี่ยมด้วยบาปกรรมและไร้ศรัทธาไม่มีสิทธิ์เข้าสวรรค์นั้น ซึ่งสถานที่ของอิบลิซ คือ นรก อัล-กุรอาน กล่าวว่า
لَأَمْلَأَنَّ جَهَنَّمَ مِنكَ وَمِمَّن تَبِعَكَ
แน่นอน ข้าจะให้นรกเต็มไปด้วยพวกเจ้าและพวกที่เชื่อฟังเจ้า (ซ็อด โองการที่ ๘๕)
๓. สวรรค์ที่ถูกสัญญาไว้นั้น คือ รางวัล ซึ่งขณะนั้นบีอาดัม (อ.) ยังมิได้กระทำสิ่งใดอันสมควรได้รับสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน อัล-กุรอาน กล่าวว่า
أَمْ حَسِبْتُمْ أَن تَدْخُلُواْ الْجَنَّةَ وَلَمَّا يَعْلَمِ اللّهُ الَّذِينَ جَاهَدُواْ مِنكُمْ
หรือว่าสูเจ้าคิดว่า สูเจ้าจะได้เข้าสรวงสวรรค์ ทั้ง ๆ ที่อัลลอฮฺยังมิได้ทรงรู้ว่าบุคคลใดคือผู้ที่ต่อสู้ในหมู่สูเจ้า (อาลิอิมรอน โองการที่ ๑๔๒)
๙๙. มนุษย์ผู้สมบูรณ์ คือ ตัวแทนของพระเจ้า
وَإِذْ قَالَ رَبُّكَ لِلْمَلاَئِكَةِ إِنِّي جَاعِلٌ فِي الأَرْضِ خَلِيفَةً قَالُواْ أَتَجْعَلُ فِيهَا مَن يُفْسِدُ فِيهَا وَيَسْفِكُ الدِّمَاء وَنَحْنُ نُسَبِّحُ بِحَمْدِكَ وَنُقَدِّسُ لَكَ قَالَ إِنِّي أَعْلَمُ مَا لاَ تَعْلَمُونَ
จงรำลึกเมื่อพระผู้อภิบาลของเจ้าตรัสแก่มลาอิกะฮฺว่า แท้จริงข้าจะตั้งผู้ปกครองคนหนึ่ง ณ แผ่นดิน มลาอิกะฮฺได้ทูลว่า พระองค์จะทรงตั้งผู้ก่อการเสียหายขึ้นและหลั่งเลือด ณ แผ่นดินกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกเราถวายสดุดี ด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์แด่พระองค์ พระองค์ตรัสว่า แท้จริงข้ารู้ดีในสิ่งที่สูเจ้าไม่รู้ (บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๓๐)
ประเด็นสำคัญจากโองการอัล-กุรอาน ข้างต้นมีดังนี้
๑. ประเด็นเดียวที่พระผู้อภิบาลทรงปรึกษากับข้าทาสของพระองค์ คือ เรื่องการสร้างมนุษย์
๒. การแต่งตั้งตัวแทนและผู้ปกครองของพระเจ้า ต้องมาจากพระองค์เท่านั้น
๓. มนุษย์ คือ ตัวแทนและเป็นผู้ปกครองตลอดกาลของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน เนื่องจากคำว่า ญาอิลุน ตามหลักภาษาคือ ประธานของประโยคบ่งบอกถึงความต่อเนื่องของภารกิจ
๔. บรรดามะละอิกะฮฺ ได้ทักท้วงอัลลอฮฺ บนพื้นฐานของความรู้ที่พระองค์ดลให้ทราบ หรือประวัติไม่ดีของมนุษย์ที่มีอยู่ก่อนหน้านบีอาดัม (อ.) บนโลกอื่นหรือโลกนี้ หรืออาจเป็นเพราะการคาดการที่ถูกต้องตามพื้นฐานความเป็นจริงของมนุษย์ที่ถูกสร้างจากดิน พวกเขาจึงช่วงชิงตำแหน่งลาภยศ ก่อความเสียหาย และทำการนองเลือดกัน
๕. บรรดามะลาอิกะฮ์ กล่าวว่า การก่อความเสียหายและการนองเลือดเป็นกิจวัตรประจำสำหรับมนุษย์ เนื่องจากคำวา ยุฟซิดุ และคำว่า ยัซฟิกุ อยู่บนรูปกริยาที่บ่งบอกถึงปัจจุบันกาล แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่อง
๖. ความเหมาะสมกว่าของมลาอิกะฮฺ ถ้าหากมิใช่เพราะความอิจฉาแล้วละก็ไม่เป็นไร พวกเขาจึงกล่าวว่า ทั้ง ๆ ที่พวกเราถวายสดุดี
๗. การตัดสินเรื่องหนึ่งเรื่องใด จำต้องพิจารณาทั้งสิ่งดีและไม่ดีด้วยกันควบคู่กัน และไม่ควรรีบด่วนตัดสิน
๘. การแสดงความเคารพภักดีและการถวายสดุดีในบรรยากาศที่เงียบสงบ มิได้บ่งบอกว่าตนมีความเหมาะสมมากกว่า
๙. จะต้องไม่คาดหวังว่าประชาชนจะยอมรับท่านโดยปราศจากคำถามว่าทำไมเพื่ออะไร เนื่องจากบรรดามะละอิกะฮฺ ทูลถามพระเจ้าขณะที่พวกเขาต่างยอมจำนนต่อพระองค์ สิ่งนี้มิได้ขัดแย้งกับคำถามที่ถามเพื่อขจัดข้อสงสัยแต่อย่างใด
๑๐. ทุกคนจะพูดตามข้อมูลที่ตนมีอยู่หรือได้รับมา ในโลกทัศน์ของมลาอิกะฮฺเป้าหมายของการสร้างสรรค์ คือ การถวายการสดุดีและการสรรเสริญโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนอิบลิซดูการกระทำก่อนในตอนแรกหลังจากนั้นจึงกล่าวว่า พระองค์สร้างฉันมาจากธาตุไฟและสร้างอาดัมมาจากดิน ฉะนั้น ฉันจะไม่กราบเขาอย่างแน่นอน แต่สำหรับอัลลอฮฺ พระองค์ได้พิจารณารวมทั้งหมดแล้วจึงเห็นว่ามนุษย์ประเสริฐกว่า พระองค์จึงกล่าวว่า ข้ารู้ในสิ่งที่สูเจ้าไม่รู้
๑๐๐. การสมรสของบุตรนบีอาดัม (อ.)
وَبَثَّ مِنْهُمَا رِجَالاً كَثِيرًا وَنِسَاء
และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชายและบรรดาหญิงอันมากมาย (นิซาอฺ โองการที่ ๑)
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งชายและหญิงจำนวนมากมายเกิดจากนบีอาดัมและภรรยา ของท่าน จากประโยชน์ดังกล่าวเข้าใจได้ว่า บุตรหลานของนบีอาดัม (อ.) จำนวนมากมายนั้นเกิดจากนบีอาดัมและภรรยาของท่านเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่สามแต่อย่างใด
สิ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ การสมรสกันเองระหว่างบุตรชายและบุตรหญิงของอาดัม เนื่องจากถ้าพวกเขาแต่งงานกับชายหรือหญิงอื่น ประโยคที่กล่าวว่าทายาทจำนวนมากมายที่มาจากท่านทั้งสอง ก็จะไม่เป็นความจริง
ประเด็นดังกล่าวมีรายงานจำนวนมากมายกล่าวถึง ซึ่งมิใช่ประเด็นที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีรายงานจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) กล่าวว่า การแต่งงานดังกล่าวไม่เป็นไรเพราะกฎการห้ามแต่งงานระหว่างพี่น้องกันเองยังไม่ได้ถูกประทานลงมา และเป็นที่แน่ชัดว่าข้อห้ามต่าง ๆ อยู่ในกลุ่มการห้ามของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถือว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใดที่ความจำเป็น หรือความเหมาะสมถูกอนุญาตในสมัยหนึ่งและในอีกสมัยหนึ่งไม่อนุญาต
รายงานที่เชื่อถือได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่า บุตรของนบีอาดัม (อ.) ไม่ได้สมรสกันเอง และกล่าวตำหนิกลุ่มชนที่เชื่อว่าบุตรของอาดัมสมรสกันเองไว้อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ถือว่ารายงานที่สอดคล้องกับโองการอัล-กุรอานมากที่สุดเป็นรายงานที่ถูกต้องมากกว่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือกรายงานกลุ่มแรกเพราะว่าสอดคล้องกับโองการที่กล่าวไว้ข้างต้น
นบีนูฮฺ (อ.)
๑๐๑. คำตอบของนบีนูฮฺ (อ.) ต่อการใส่ร้ายและข้อท้วงติง
กลุ่มชนของนบีนูฮฺ (อ.) เป็นกลุ่มชนที่ใส่ร้ายต่าง ๆ นา ๆ ต่อนบีของตนเอง เช่นกล่าวว่า
๑. เป็นคนวิกลจริต อัล-กุรอาน กล่าวว่า
فَكَذَّبُوا عَبْدَنَا وَقَالُوا مَجْنُونٌ وَازْدُجِرَ
พวกเขาได้ปฏิเสธบ่าวของเราโดยกล่าวว่าเขา (นูฮฺ) เป็นคนบ้าและถูกขู่บังคับ (เกาะมัร โองการที่ ๙)
๒. พูดโกหก อัล-กุรอาน กล่าวว่า
بَلْ نَظُنُّكُمْ كَاذِبِينَ
แต่เราคิดว่าพวกท่านเป็นพวกโกหก (ฮูด โองการที่ ๒๗)
๓. หลงผิด อัล-กุรอาน กล่าวว่า
قَالَ الْمَلأُ مِن قَوْمِهِ إِنَّا لَنَرَاكَ فِي ضَلاَلٍ مُّبِينٍ
บรรดาชนชั้นนำในหมู่ประชาชนของเขากล่าวว่า แท้จริงเราเห็นท่านอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้ง (อะอฺรอฟ โองการที่ ๖๐)
๔. รักความสะดวกสบาย
يُرِيدُ أَن يَتَفَضَّلَ عَلَيْكُمْ
เขาต้องการที่จะทำตัวให้ดีเด่นเหนือพวกท่าน (มุอฺมินูน โองการที่ ๒๔)
แต่การท้วงติงของพวกเขา ก็เพราะ
๑. ความเป็นมนุษย์
فَقَالَ الْمَلأُ الَّذِينَ كَفَرُواْ مِن قِوْمِهِ مَا نَرَاكَ إِلاَّ بَشَرًا
แล้วบรรดาบุคคลชั้นนำซึ่งปฏิเสธศรัทธาจากกลุ่มชนของเขากล่าวว่า เรามิเห็นท่านเป็นอื่นใด นอกจากสามัญชนเช่นเรา (ฮูด โองการที่ ๒๗)
๒. บรรดาผู้ติดตามท่าน ล้วนเป็นคนยากจนและไร้ชื่อเสียง
وَمَا نَرَاكَ اتَّبَعَكَ إِلاَّ الَّذِينَ هُمْ أَرَاذِلُنَا بَادِيَ الرَّأْيِ
และเรามิเห็นผู้ใดปฏิบัติตามท่าน นอกจากบรรดาผู้ต่ำช้าของพวกเราที่มีความคิดเห็นตื้น ๆ และเรามิเห็นว่าพวกท่านประเสริฐกว่าพวกเรา (ฮูด โองการที่ ๒๗)
กลุ่มชนที่ต่อต้านศาสดานูฮฺ (อ.) หลังจากใช้วิธีการใส่ร้ายและประท้วงท่านศาสดาแล้ว พวกเขาได้เริ่มใช้วิธีที่รุนแรงกว่ากล่าว คือ การขู่สังหารท่านพวกเขากล่าวว่า โอ้ นูฮฺ หากท่านไม่ยอมเลิกราการเผยแผ่เราจะขว้างท่านด้วยก้อนหิน อัล-กุรอาน กล่าวว่า
قَالُوا لَئِن لَّمْ تَنتَهِ يَا نُوحُ لَتَكُونَنَّ مِنَ الْمَرْجُومِينَ
พวกเขากล่าวว่า โอ้ นูฮฺ หากท่านไม่หยุดยั้ง แน่นอน ท่านจะถูกขว้างด้วยก้อนหิน (ชุอะรอ โองการที่ ๑๑๖)
แต่นบีนูฮฺ (อ.) ตอบโต้การใส่ร้าย การประท้วง และการโกหกมดเท็จ และการกล่าวหาว่าท่านเป็นสามัญชนธรรมดาว่า ฉันเป็นศาสดาที่ถูกส่งมาโดยพระเจ้าพร้อมด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์ และฉันมีสิ่งปาฏิหาริย์ (มุอญิซาต) มาแสดงด้วย อัล-กุรอาน กล่าวว่า
أَرَأَيْتُمْ إِن كُنتُ عَلَى بَيِّنَةٍ مِّن رَّبِّيَ
พวกท่านเห็นแล้วใช่ไหมว่า ฉันมีหลักฐานอันแจ้งชัดจากพระผู้อภิบาลของฉันมาด้วย (ฮูด โองการที่ ๒๘)
ท่านตอบโต้ผู้ที่ใส่ร้ายว่าท่านเป็นคนหลงผิดว่า ฉันไม่ใช่คนหลงผิด ทว่าฉันมีสารจากพระเจ้ามาด้วย อัล-กุรอาน กล่าวว่า
قَالَ يَا قَوْمِ لَيْسَ بِي ضَلاَلَةٌ وَلَكِنِّي رَسُولٌ مِّن رَّبِّ الْعَالَمِين أُبَلِّغُكُمْ رِسَالاَتِ رَبِّي وَأَنصَحُ لَكُمْ
เขากล่าวว่า โอ้ ประชาชาติของฉัน ฉันไม่ได้หลงผิดแต่อย่างใดทว่าฉัน คือ เราะซูลคนหนึ่งที่มาจากพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ฉันจะประกาศสารจากพระผู้อภิบาลของฉันแก่พวกเจ้า และฉันจะปรับปรุงพวกท่าน (อะอฺรอฟ โองการที่ ๖๑-๖๒)
ท่านตอบโต้คำกล่าวหาที่ว่า บรรดาผู้ติดตามท่านล้วนเป็นผู้ยากจนว่า ฉันไม่ใช่ศาสดาที่มั่งคลั่งในทรัพย์เงินทองแต่อย่างใด ที่จะต้องตอบรับเฉพาะบรรดาคนมั่งคลั่งและปฏิเสธคนยากจน ฉันเป็นนบีของอัลลอฮฺ (ซบ.) มีหน้าที่ชี้นำประชาชาติทุกหมู่เหล่า
وَيَا قَوْمِ لا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ مَالاً إِنْ أَجْرِيَ إِلاَّ عَلَى اللّهِ وَمَآ أَنَاْ بِطَارِدِ الَّذِينَ آمَنُواْ
โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย ฉันมิได้ร้องขอทรัพย์สินใดสำหรับการเผยแพร่ แท้จริงรางวัลของฉันอยู่ ณ อัลลอฮฺ และฉันจะไม่ขับไล่บรรดาผู้ศรัทธาเด็ดขาด (ฮูด โองการที่ ๒๙)
๑๐๒. การช่วยเหลือนบีนูฮฺ (อ.) ให้พ้นจากความทุกข์อันยิ่งใหญ่
وَنَجَّيْنَاهُ وَأَهْلَهُ مِنَ الْكَرْبِ الْعَظِيمِ
และเราได้ช่วยเขาและประชาชาติของเขาให้พ้นจากทุกข์ภัยอันมหันต์ (ซอฟาต โองการที่ ๗๖)
เราได้ช่วยเหลือนูฮฺและประชาชาติของเขาให้พ้นจากทุกข์อันยิ่งใหญ่ ความทุกข์อันยิ่งใหญ่นั้นคืออะไรจึงทำให้นบีนูฮฺ (อ.) ต้องพบกับความยากลำบากอย่างรุนแรง บางทีอาจเป็นการดูถูกเหยียดหยาม การกลั่นแกลง และการพูดจากเสียดสีโดยประชาชาติของท่านที่มีต่อท่านและบรรดาผู้เจริญรอยตามท่าน หรืออาจเป็นการปฏิเสธสภาวะการเป็นนบีท่าน ซึ่งบางครั้งพวกเขากล่าวว่า พวกเราไม่เห็นมีใครปฏิบัติตามท่านแล้วนอกจากต่อยหน้าท่าน อัล-กุรอาน กล่าวว่า
وَمَا نَرَاكَ اتَّبَعَكَ إِلاَّ الَّذِينَ هُمْ أَرَاذِلُنَا
และเรามิเห็นผู้ใดปฏิบัติตามท่าน นอกจากบรรดาผู้ต่ำช้าของพวกเราที่มีความคิดเห็นตื้น ๆ
บางครั้งพวกเขากล่าวว่า โอ้ นูฮฺท่านพูดกับพวกเรามากเกินไปแล้ว ถ้าหากท่านพูดจริงจงนำบทลงโทษที่ถูกกำหนดไว้มาซิ
قَالُواْ يَا نُوحُ قَدْ جَادَلْتَنَا فَأَكْثَرْتَ جِدَالَنَا فَأْتَنِا بِمَا تَعِدُنَا إِن كُنتَ مِنَ الصَّادِقِينَ
พวกเขากล่าวว่า โอ้ นูฮฺเอ๋ย แน่นอน ท่านได้โต้เถียงกับเรามากแล้ว ดังนั้น จงนำมาให้เราซิสิ่งที่สัญญาไว้กับเรา ถ้าท่านเป็นผู้สัตย์จริง (ฮูด โองการที่ ๓๒)
บางครั้ง ขณะที่ท่านกำลังวุ่นอยู่กับการสร้างเรือ ประชาชาติของท่านบางกลุ่มได้เดินผ่านมา และพูดจากเยาะเย้ยเสียดสีท่านเสมอ อัล-กุรอาน กล่าวว่า
وَيَصْنَعُ الْفُلْكَ وَكُلَّمَا مَرَّ عَلَيْهِ مَلأٌ مِّن قَوْمِهِ سَخِرُواْ مِنْهُ
เขาได้สร้างเรือ และทุกครั้งที่ผู้นำจากหมู่ชนของผ่าน พวกเขาได้เยาะเย้ยเขา (ฮูด โองการที่ ๓๘)
๑๐๓. ดุอาอฺของนบีนูฮฺ (อ.) ถูกตอบรับ
وَلَقَدْ نَادَانَا نُوحٌ فَلَنِعْمَ الْمُجِيبُونَ
และโดยแน่นอนนูฮฺได้ร้องขอเรา ดังนั้น ผู้ตอบสนองช่างประเสริฐแน่แท้ (ซอฟาต โองการที่ ๗๕)
อักษรลามในคำว่า ละก็อด และคำว่า ละนิอฺมะฮฺ เป็นลามแห่งการสาบาน หมายถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเอาใจใส่พิเศษต่อท่านและทรงตอบรับการอ้อนวอนของท่าน พระองค์ทรงสรรเสริญเยินยอตนเอง และทรงใช้คำว่า ผู้ทรงตอบสนอง ในรูปของพหูพจน์เพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญ
การพิจารณาจากประโยคข้างเคียงเข้าใจได้ว่า จุดประสงค์ของการวิงวอนของนบีนูฮฺ (อ.) หมายถึง การสาปแช่งกลุ่มชนของตนเอง โดยกล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน โปรดอย่าปล่อยให้ผู้ปฏิเสธหลงเหลืออยู่บนหน้าแผ่นดินแม้แต่คนเดียว เนื่องจากถ้าปล่อยให้พวกเขาคงอยู่ต่อไป พวกเขาจะทำให้ปวงบ่าวของพระองค์หลงทาง
وَقَالَ نُوحٌ رَّبِّ لَا تَذَرْ عَلَى الْأَرْضِ مِنَ الْكَافِرِينَ دَيَّارًا إِنَّكَ إِن تَذَرْهُمْ يُضِلُّوا عِبَادَكَ
และนูฮฺได้กล่าวว่า โอ้ ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน โปรดอย่าปล่อยให้พวกปฏิเสธหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินอีกเลย แท้จริง ถ้าทรงปล่อยให้พวกเขาหลงเหลืออยู่ พวกเขาก็จะทำให้ปวงบ่าวของพระองค์หลงทาง (นูฮฺ โองการที่ ๒๖-๒๗)
และท่านได้วอนขออีกว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ฉันอ่อนล้าเหลือเกินขอพระองค์ทรงช่วยเหลือฉันด้วยเถิด
فَدَعَا رَبَّهُ أَنِّي مَغْلُوبٌ فَانتَصِرْ
เขาจึงวิงวอนขอต่อพระผู้อภิบาลของเขาว่า แท้จริงฉันถูกพิชิตแล้วได้โปรดช่วยเหลือฉันด้วย (เกาะมัร โองการที่ ๑๐)
๑๐๔. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสลามนบีนูฮฺ (อ.)
คุณลักษณะอีกประการหนึ่งของนบีนูฮฺ (อ.) คือ พระเจ้าตรัสกับท่านว่า
سَلَامٌ عَلَى نُوحٍ فِي الْعَالَمِينَ
ความศานติจงมีแด่นูฮฺในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย (ซอฟาต โองการที่ ๗๙)
พระเจ้าไม่เคยกล่าวสลามเช่นนี้แด่นบีท่านใดมาก่อนเลย สำหรับนบีท่านอื่น ๆ พระองค์เพียงแค่ให้พรเท่านั้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า
سَلَامٌ عَلَى مُوسَى وَهَارُونَ
ศานติจงมีแด่มูซาและฮารูณ (ซอฟาต โองการที่ ๑๒๐)
سَلَامٌ عَلَى إِبْرَاهِيمَ
ศานติจงมีแต่อิบรอฮีม (ซอฟาต โองการที่ ๑๐๙)
และนี่เป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความสำคัญพิเศษของนบีนูฮฺ (อ.) ซึ่งประชาชาติทั้งหลายต่างร่วมอยู่ในการสรรเสริญอันเฉพาะของพระองค์
การที่พระเจ้าทรงสลามพิเศษต่อนบีนูฮฺ (อ.) อาจเป็นเพราะว่า
๑. ทุกสิ่งที่มาจากความเป็นเอกภาพของพระเจ้าและวิชาการต่าง ๆ ของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน ล้วนเป็นผลผลิตที่เกิดจากการพร่ำสอนของนบีนูฮฺ (อ.) ทั้งสิ้น และบทบัญญัติแรกที่ถูกประทานลงมายังประชาชาติได้รับการสั่งสอนโดยนบีนูฮฺ (อ.)
๒. นบีนูฮฺ (อ.) ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับประชาชาติของท่านนานถึง 950 ปี ท่านได้ใช้เวลาเหล่านั้นเผยแผ่และชี้นำทางพวกเขา อัล-กุรอาน กล่าวว่า
فَلَبِثَ فِيهِمْ أَلْفَ سَنَةٍ إِلَّا خَمْسِينَ عَامًا فَأَخَذَهُمُ الطُّوفَانُ وَهُمْ ظَالِمُونَ
และเขาได้อยู่ร่วมกับพวกเขาหนึ่งพันปี ยกเว้นห้าสิบปี (๙๕๐ ปี) สุดท้ายพายุได้โหมกระหน่ำพวกเขาและพวกเขาคือผู้อธรรม (อังกะบูต โองการที่ ๑๔)
พวกเขาเป็นประชาชาติที่อธรรมและยโสโอหังที่สุด ซึ่งการชี้นำกลุ่มชนที่มีความอ่อนโยนและสุภาพนั้นง่ายดาย แตกต่างไปจากการชี้นำกลุ่มชนที่ดื้อรั้น ระราน และนิสัยแข็งกระด้าง (ตัฟซีร เมาซูอี เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๔๑)